หุ่นยนต์ ภัยของความเหลื่อมล้ำ?
/อีกไม่กี่สัปดาห์ ก็จะถึงเวลาที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ
ทรัมป์ ได้เคยประกาศระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่า จะย้ายอาชีพของชาวอเมริกันกลับมาที่สหรัฐ หลังจากที่ได้สูญเสียการจ้างงานไปยังประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า เช่น จีน เม็กซิโก ฯลฯ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การจ้างงาน เป็นวาทะกรรมที่ร้อนแรงการเมือง เพราะการมีอาชีพเป็นปัจจัยหลักในการหาเลี้ยงชีพของชาวอเมริกัน
แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่ทุกฝ่าย ที่เห็นด้วยกับทรัมป์
ช่วงเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สำนักงานบริหาร (Executive Office) ของบารัค โอบามา ได้เปิดเผยรายงาน “ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และเศรษกิจ” (Artificial Intelligence, Automation, and the Economy) ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญว่า หุ่นยนต์ คือต้นเหตุของการสูญเสียอาชีพของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง และมิใช่ ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า เช่น จีน หรือ เม็กซิโก อย่างที่ทรัมป์ได้ประกาศเอาไว้
รายงานดังกล่าว ยังได้อ้างด้วยว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันนับล้านคน และนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นของสังคม
หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจเคยได้ยินข่าวคราวทำนองนี้ และอาจต้องนึกถึงหุ่นยนต์จากภาพยนตร์สตาร์วอร์ส ที่มาทำงานแทนมนุษย์ในด้านต่างๆ และอาศัยร่วมอยู่กับมนุษย์
หุ่นยนต์ (Robot) เป็นคำที่สื่อมักใช้เรียก ในการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป แต่ความจริงแล้ว มักจะหมายถึง ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ที่มาทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งในข้อเท็จจริง อาจไม่ได้มีแขนขาและต้องอาศัยร่วมอยู่กับมนุษย์ ตามที่ถูกสะท้อนอยู่ในภาพยนตร์ ทั้งนี้ ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติอาจเป็นส่วนหนึ่งของคอมพิวเตอร์ และดูไม่ต่างกับกล่องๆหนึ่ง
ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ย่อมต้องหนีไม่พ้น รถยนต์ที่ไร้คนขับ (Driverless Car)
ไม่นานมานี้ หน่วยงานวิจัยการตลาด Forrester Research ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ภายใน 2021 หุ่นยนต์จะทดแทน 6% ของการจ้างงานในสหรัฐโดยเริ่มต้นจาก การขับรถบรรทุก รถแท็กซี่ และ เจ้าหน้าที่บริการลูกค้า
โดยมีทั้ง Uber, Tesla, Google และผู้ผลิตรถรายใหญ่เกือบทุกค่าย ที่ได้ลงทุนไปอย่างมหาศาลกับ Driverless Car เพื่อให้นำออกสู่ตลาดได้ภายใน 2020 ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จและเทคโนโลยีมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก หากอาชีพการขับรถบรรทุกรถแท็กซี่ จะต้องถูกทดแทนไป
ไม่นานมีนี้อีกเช่นกัน Amazon ได้เปิดตัว Amazon Go ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของร้านขายของชำ (Grocery Store) ที่ให้บริการด้วยหุ่นยนต์ และไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า ทั้งนี้ Amazon ได้ใช้ กล้องวงจรปิด ควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อติดตามการหยิบสินค้าของลูกค้าภายในร้าน และตัดเงินผ่านบัญชีโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเข้าแถวเพื่อชำระเงินค่าสินค้า
ท่ามกลางกระแสชื่นชม Amazon ที่ได้ผลักดันเทคโนโลยีใหม่ที่มีความท้าท้าย ยังได้มีกระแสของความเป็นห่วง ว่าเทคโนโลยีในรูปแบบของ Amazon Go จะทำให้เกิดการว่างงานของเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าอีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ได้มีมุมมองของนักวิชาการบางกลุ่มที่ว่า ภัยคุกคามจากหุ่นยนต์ ที่ทำให้เกิดผลลบต่อการจ้างงานไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไร
เรื่องราวดังกล่าว ได้เกิดขึ้นทุกยุคสมัยที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น จากปี 1962 ถึง 2005 ได้มีการจ้างงานลดลงถึง 75% ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของสหรัฐ ในขณะที่ผลผลิตกลับไม่ได้ลดลงเลย ทั้งนี้เป็นเพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าทำให้สามารถใช้แรงงานลดลงเพื่อที่จะได้ผลผลิตเท่าเดิม
แต่ทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา สำหรับทุกอาชีพที่ถูกทดแทนไป ย่อมต้องมีอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่ จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีอีกเช่นกัน เพราะในปัจจุบัน ก็อาชีพอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ไม่เคยมีมาในอดีต
ดังนั้นไม่ว่าหุ่นยนต์จะทดแทนกี่เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน ย่อมก็ต้องมีอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่ในอนาคต เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ยากขึ้น สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น และยังไม่สามารถถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีในแต่ละยุคได้
จึงไม่ใช่ปัญหาอะไร สำหรับบุคลากรเจเนอเรชั่นใหม่ ที่ยังศึกษาอยู่ หรือยังอยู่ในวัยที่จะสรรหาความรู้ เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ยากขึ้น
แต่ปัญหาจริงจะเกิดกับบุคลากรที่ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพให้กับตนเอง และต้องถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นนี้อยู่ และมีสัดส่วนของบุคคลากรกลุ่มนี้
อย่างไรก็ดี เร็วนี้ๆ สตีเฟน ฮอว์กิง นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับตำนาน ก็ได้ออกมาเตือนว่า หุ่นยนต์ หากนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรืออยู่ในมือของคนที่จ้องจะเอาเปรียบ ก็จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ที่ได้กล่าวมานั้น เป็นมุมมองจากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นผู้นำของโลกทางด้านเทคโนโลยี และบุคลากรมีความพร้อมที่สุดในการเพิ่มศักยภาพให้ทันกับเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งได้มีความเป็นห่วงใยกับภัยคุกคามจากหุ่นยนต์ โดยมีทั้งวาทะกรรมทางการเมือง และสิ่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จริง
แต่อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เมื่อยุคของหุ่นยนต์มาถึง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ความเหลื่อมล้ำของสังคม หรือความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม
Published in Krungthepturakij on January 17, 2017