TPP กับความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจดิจิทัล
/สัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ ได้สาบานตน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 อย่างเป็นทางการ และหนึ่งในกิจกรรมแรก ของ ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็คือการออกคำสั่งถอนตัวสหรัฐอเมริกาออกจาก Trans-Pacific Partnership (TPP)
สัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกัน พรบ การพัฒนาดิทิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๒๕๖๐ ของราชอาณาจักรไทย ก็ได้ถูกเผยแพร่ลงบนราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ
แม้จะเป็นเหตุบังเอิญ ที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้ ได้บังเกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกัน แต่ TPP กับ เศรษฐกิจดิจิทัล นั้นมีความเกี่ยวพันในเชิงลึก ที่หลายคนอาจไม่รู้ และข้อตกลง TPP ได้มีบทบัญญัติที่ซ่อนเร้น เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะยังให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการค้า ระหว่างชาติมหาอำนาจทางเทคโนโลยี และชาติที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย
TPP คือข้อตกลงทางการค้า ที่มีขึ้นระหว่าง 12 ประเทศ โดยมีชาติผู้ส่งออกทางเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และชาติผู้นำเข้าทางเทคโนโลยีได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู และยังมี สิงค์โปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และ บรูไน ที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนและเป็นเพื่อนบ้านของไทย
กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ส่งออกสินค้าและบริการในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ยกตัวอย่างเช่น Google, YouTube, Facebook, Amazon, Uber ฯลฯ โดยอีก 11 ประเทศที่เหลือ เป็นผู้นำเข้าบริการเหล่านี้จากสหรัฐอเมริกา
ความเหลื่อมล้ำจาก TPP ที่สร้างประโยชน์ให้ชาติมหาอำนาจทางเทคโนโลยี เกิดจากบทบัญญัติที่ห้ามกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) จากชาติมหาอำนาจ สู่ชาติที่กำลังไล่ตามทางเทคโนโลยี
นั่นหมายความว่า TPP ห้ามอีก 11 ประเทศที่เหลือ มีนโยบายที่กำหนดการทำ Technology Transfer จาก Google, YouTube, Facebook, Amazon, Uber ฯลฯ มาสู่ประเทศของตน ในขณะที่ ธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา สามารถเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากตลาดของทั้ง 11 ประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
และทั้ง 11 ประเทศ จะพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากสุดยอดแห่งเทคโนโลยีของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้
นอกจากนี้ TPP ยังมีบทบัญญัติ ที่ห้ามอีก 11 ประเทศ มีนโยบายที่กำหนดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพภายในประเทศ นั่นหมายความว่า ห้ามกำหนดให้ Google, YouTube, Facebook, Amazon, Uber ฯลฯ ต้องมาสร้างถิ่นฐานภายในประเทศ ซึ่งรวมไปถึง ดาต้าเซ็นเตอร์ และโครงข่ายอื่นๆ ในขณะที่ ธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา ต้องสามารถให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้ถิ่นฐานมาจากสหรัฐอเมริกา และไม่ต้องมาลงทุนภายในทั้ง 11 ประเทศเลย
ในกรณีนี้ ทั้ง 11 ประเทศ จะพลาดโอกาสที่จะได้เงินลงทุนจากธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้
จริงอยู่ บทบัญญัติ ของ TPP นั้นเขียนบังคับ 12 ประเทศอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว ชาติมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา คงไม่ได้สูญเสียอะไร หากไม่สามารถออกนโยบายกำหนดการทำ Technology Transfer จากประเทศที่กำลังไล่ตาม อย่างเช่น เวียดนาม หรือ บรูไน
เพราะนอกจากประเทศเหล่านี้ จะไม่มีเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาต้องการแล้ว ประเทศเหล่านี้น่าจะยังคงไม่มีความสามารถที่จะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากตลาดในสหรัฐอเมริกา
โดยทั่วไปแล้ว ชาติที่กำลังไล่ตามทางเทคโนโลยี ย่อมประสงค์ที่จะได้รับ Technology Transfer จากชาติที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และพร้อมที่จะมอบสิทธิประโยชน์ทางการค้าให้ให้กับธุรกิจจากชาติที่เป็นผู้นำ ที่พร้อมจะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้
แม้กระทั่งในประเทศไทย Technology Transfer ยังคงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่มีความสำคัญ สำหรับธุรกิจต่างชาติ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก Thailand Board of Investment (BOI)
แต่ทั้ง 11 ประเทศที่ลงนามใน TPP ไปแล้วนั้น กลับต้องสละสิทธิในโอกาสที่จะกำหนดเงื่อนไข Technology Transfer กับธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ที่จะมาแสวงหาตลาดหรือลงทุนภายในประเทศ
ฟังแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยสำหรับ ทั้ง 11 ประเทศ แต่ที่พวกเขายอมลงนาม ย่อมเป็นเพราะสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนในด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากเศรษฐกิจดิจิทัล ที่พวกเขาจะได้รับนั้น ถูกประเมินแล้วมีความคุ้มค่ามากกว่าสิ่งที่พวกเขาจะเสียไป
อย่างไรก็ดี การออกคำสั่งถอนตัวสหรัฐอเมริกาออกจาก TPP โดย ประธานาธิบดีทรัมป์ มิใช่เป็นเพราะเขาต้องการปกป้อง 11 ประเทศนี้ จากความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่จะทวีคูณยิ่งขึ้นไป แต่อาจเป็นเพราะทรัมป์ได้มองว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจาก TPP คือบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น Google, YouTube, Facebook, Amazon, Uber ฯลฯ ในขณะที่ประชาชนชาวสหรัฐ อาจต้องสูญเสียการจ้างงานและสิ่งอื่นๆ ไปยัง 11 ประเทศนี้
สำหรับประเทศไทยแล้ว เป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มต้นใหม่ โดยเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่จะแสวงหาพันธมิตรและกรอบการเจรจา ที่จะเป็นประโยขน์กับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำจากถูกเอาเปรียบโดยมหาอำนาจทางเทคโนโลยี
Published in Krungthepturakij on January 31, 2017