Android สู่หุ่นยนต์ ก้าวต่อไปของกูเกิล-ไอซีที

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การเปิดตัวของ Amazon Prime Air ที่ใช้อากาศยานไร้คนขับที่เรียกว่า โดรน ในการขนส่งสินค้า เพื่อสร้างระบบอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจ จนเกิดเป็นไวรัลวีดิโอ ที่มีการส่งต่อและมีผู้เข้าชมเกือบ 15 ล้านคนบนยูทูบ และที่สำคัญ UPS บริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยว่า กำลังทำการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพื่อที่จะทดแทนการขนส่งสินค้าด้วยมนุษย์ การบุกเบิกของทั้ง Amazon และ UPS อาจเป็นจุดเริ่มต้นสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมไอซีที ที่จะมีการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ ซึ่งควบคุมผ่านไอซีที และสามารถทำงานทดแทนมนุษย์ เพื่อการปฏิบัติการอย่างอัตโนมัติ โดยจะเป็นการเปิดมิติใหม่ ที่ไอซีทีจะสามารถทะลุทะลวงโลกดิจิทัลออกมาเชื่อมต่อกับโลกจริง (Physical World) ซึ่งมีหุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานแทนมนุษย์ (Mechanization)

แต่ถึงกระนั้น พัฒนาการของหุ่นยนต์ ที่เชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมไอซีที ก็มิได้หยุดยั้งอยู่เพียง Amazon และ UPS เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีข่าวคราวของการล่าซื้อบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดย Google ซึ่งภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา Google ได้เข้าซื้อถึง 8 บริษัทที่พัฒนาหุ่นยนต์ ล่าสุดคือบริษัท Boston Dynamics ผู้ผลิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้กับกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัย MIT ของสหรัฐ ในขณะที่เทคโนโลยีโดรนของ Amazon Prime Air เป็นหุ่นยนต์ภาคอากาศ ที่สามารถบินได้ ความโดดเด่นของ Boston Dynamics คือหุ่นยนต์ภาคพื้นดิน ที่ถูกจำลองมาจาก การเดิน การวิ่ง การกระโดด และการปีนป่าย ของสัตว์สองขา สัตว์สี่ขา และ สัตว์หกขา เพื่อที่จะสามารถบรรทุกน้ำหนัก และเดินทางผ่านภูมิประเทศชนิดต่างๆ จนรวมถึงสิ่งกีดขวาง ได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย หุ่นยนต์ของ Boston Dynamics ล้วนถูกออกแบบมาให้มีความทนทาน เพราะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้กับกองทัพสหรัฐ

Read More