ไทยเกือบช้าที่สุดในอาเซียน

จากแก่นวิชาแห่งฟิสิกส์ คงไม่มีปรัชญาใดที่จะเลิศล้ำไปกว่าทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่และเวลา การสื่อสารที่เร็วเท่าแสง ด้วยเทคโนโลยีแห่งยุคดิจิทัล ได้พังทลายกำแพงแห่งระยะทาง และก่อให้เกิดธุรกิจไร้พรมแดนที่ถูกพัฒนาไปอย่างควบคู่กับธุรกิจในยุคดิจิทัล

เทคโนโลยี ทำให้บุคคลจากต่างสถานที่ ไม่ว่าจะห่างไกลกันเพียงใด กลับสามารถติดต่อ สื่อสาร หรือกระทั่งประกอบธุรกิจ เสมือนหนึ่งอยู่ในสถานที่เดียวกัน

แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีใด ที่สามารถพังทลายกำแพงแห่งกาลเวลาได้ หากแม้นจะใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ที่มีความเลิศล้ำที่สุด การติดต่อ สื่อสาร หรือกระทั่งประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ ยังคงเป็นทาสของเวลา แม้ในอนาคตอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีใด ที่สามารถพังทลายกำแพงแห่งเวลาได้อีกเช่นกัน

ปัจจุบันเข้าสู่ยุคโกลบอลไลเซชั่น แม้ในวงเล็กที่เรียกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มากมายหลายครั้ง การติดต่อสื่อสารจำเป็นต้องเชื้อเชิญการมีส่วนร่วม ของบุคคลจากประเทศต่างๆ แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้บุคคลเหล่านี้ สามารถประกอบธุรกิจ ไม่ต่างกับการที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือการปรับเปลี่ยนเวลา เพื่อหาจุดร่วมที่มีความเหมาะสมที่สุด ในการทำงานร่วมกัน สำหรับบุคคลที่มาจากประเทศต่างๆ

การที่บุคคลจากแต่ละประเทศ ตื่นนอนไม่พร้อมกัน เข้าทำงานไม่พร้อมกัน รับประทานอาหารไม่พร้อมกัน ฯลฯ ได้ถูกกำหนดไว้ด้วยมาตรฐานแห่งเวลา ชาติใดที่มีมาตรฐานแห่งเวลา เป็นจุดร่วมกับนานาอารยะประเทศมากที่สุด ย่อมมีความได้เปรียบ ด้วยความต้องการแห่ง Real Time ซึ่งเป็นผลลัพธ์แห่งเทคโนโลยียุคดิจิทัล ความเหลื่อมล้ำทางเวลาย่อมเป็นผลเสียต่อการประกอบธุรกิจ

และชาติใดในอาเซียนที่ตื่นนอนก่อนประเทศอื่น ย่อมเป็นชาติแรกที่สหรัฐ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก จะเลือกติดต่อทำธุรกิจด้วย

เวลามาตรฐานของไทย คือ GMT+7 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ในขณะที่เวลามาตรฐานของสิงคโปร์คือ GMT+8 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ฯลฯ นั่นหมายความว่า เวลาของไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จะช้ากว่า สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ฯลฯ อยู่ 1 ชั่วโมงเสมอ และมีเพียงแต่พม่าเท่านั้น ที่ช้ากว่าไทยในอาเซียน ด้วย GMT+6:30 เป็นเวลามาตรฐาน

ไทยจึงเกือบช้าที่สุดในอาเซียน

ข้อได้เปรียบของเพื่อนบ้านอย่างเช่นสิงคโปร์และมาเลเซีย คือเวลามาตรฐานที่เป็นจุดร่วมกับบรรดาเสือทั้งหลายของเอเชีย รวมถึง จีน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ที่อาจยิ่งใหญ่ไปกว่าสหรัฐในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ย่อมเป็นชาติแรกที่สหรัฐจะเลือกติดต่อด้วย เพราะตื่นนอนก่อนประเทศอื่น และสามารถเป็นตัวแทนของการตื่นเช้า แห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างไม่ต้องพยายาม

ความแตกต่างระหว่าง GMT+7 GMT+8 ย่อมหมายถึงชั่วโมงทำงานที่จะขาดหายไป 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทำงาน ที่ประเทศที่มีความแตกต่างทางมาตรฐานแห่งเวลา จะสามารถทำงานร่วมกันได้ เมื่อคำนึงถึงชั่วโมงทำงานมาตรฐาน 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ที่ร่วมถึงการพักเที่ยง 1 ชั่วโมง และรวมเป็น 7 ชั่วโมงทำงานต่อวัน

เป็นเรื่องที่น่าคิด ความแตกต่างเพียง 1 ชั่วโมง กลับทำให้ชั่วโมงทำงานขาดหายไปถึง 2 ชั่วโมง และคิดเป็น 30% ของเวลาทำงานต่อวัน

ก่อนหน้าที่จะมียุคดิจิทัล ความแตกต่างของเวลาย่อมไม่มีผล เพราะการทำงานร่วมกันย่อมหมายความว่า บุคคลจากประเทศต่างๆ ต้องขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปสู่สถานที่เดียวกัน จึงจะสามารถประกอบธุรกิจ อยู่ในสถานที่เดียวกัน มาตรฐานแห่งเวลาเดียวกัน และไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น

หลายท่านอาจไม่ทราบ และหลงเชื่อว่ามาตรฐานแห่งเวลาได้ถูกกำหนดด้วยเส้นแวง หรือ Longitude แต่เพียงอย่างเดียว และชาติที่พระอาทิตย์ขึ้นก่อน ย่อมมีเวลาที่เร็วกว่าเสมอไป ความเข้าใจที่ผิดนี้ เป็นผลจากความชาญฉลาดของบางประเทศในอาเซียน ที่แม้พระอาทิตย์จะขึ้นทีหลัง แต่กำหนดเวลามาตรฐานไว้เร็วกว่าประเทศที่พระอาทิตย์ขึ้นก่อนเสียอีก

ที่ควรสังเกต คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย อยู่ทางทิศตะวันตกของ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม และอยู่ทางทิศใต้ของไทย ด้วยหลักแห่งธรรมชาติแล้ว สิงคโปร์และมาเลเซียควรมีเวลามาตรฐานเดียวกับไทย แต่กลับกำหนดมาตรฐานไว้เร็วกว่าไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ทั้งที่พระอาทิตย์ขึ้นภายหลังประเทศเหล่านี้

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ สิงคโปร์และมาเลเซีย “เลือก” ที่จะตื่นนอนพร้อมกับ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บรูไน ฯลฯ และไม่ได้เรียกร้องว่า 6 โมงเช้าของพวกเขา พระอาทิตย์จะต้องขึ้นแล้ว

เร็วนี้ๆ ได้มีการสถาปนา เวลามาตรฐานอาเซียน หรือ ASEAN Common Time เพื่อกำหนดให้ประเทศส่วนใหญ่ของอาเซียน รวมถึงไทย ใช้ GMT+8 เป็นมาตรฐานแห่งเวลา ซึ่งจะลดความเสียเปรียบเนื่องด้วยความแตกต่างของเวลา และทำให้ไทยสามารถก้าวได้ทันเพื่อนบ้าน แต่เป็นที่น่าเสียดายสำหรับชาวไทย เพราะมีรายงานข่าวว่า ประชากรไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กับการที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการที่ต้องตื่นเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง หากประเทศไทยเลือกใช้เวลามาตรฐานอาเซียน

ความเจริญก้าวหน้าของประเทศย่อมมาจากการเสียสละของคนในชาติ บางครั้งเพียงแค่ตื่นนอนเร็วขึ้นเพียงหนึ่งชั่วโมง สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างที่ไม่อาจคาดคิด แต่ในครั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานแห่งเวลา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตื่นเร็วขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนจะได้เข้านอนกันเร็วขึ้นอย่างที่ไม่ต้องพยายาม โปรดให้โอกาสประเทศไทยกันครับ

Published in Krungthepturakij on May 26, 2015