น้ำบ่อน้อย รายได้ของธุรกิจเว็บไทย

เคยสงสัยไหมว่าทำไมธุรกิจเว็บไทย ถึงไม่หวือหวาเหมือนในต่างประเทศ สำหรับธุรกิจเว็บแล้ว รายได้หลักคงหนีไม่พ้นโฆษณาออนไลน์ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนได้อานิสงส์จากแนวโน้มของตลาด ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในสหรัฐ มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 90.1% และสัดส่วนโฆษณาออนไลน์ จะสูงถึง 15.2% ในปี 2013 และมีความเห็นพ้องกันว่า สื่อพื้นฐานอย่างโทรทัศน์ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะ Median อายุสูงถึง 50 ปี และจะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ประเทศอังกฤษมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 76.4% แต่โฆษณาออนไลน์นั้นสูงถึง 23.5% เมื่อต้นปี 2009 โฆษณาออนไลน์ในอังกฤษมีรายได้สูงกว่าโทรทัศน์ และกลายเป็นสื่อที่มีรายได้โฆษณาสูงสุด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการลงทุนและพัฒนาธุรกิจเว็บอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่มีอิทธิพลทางความคิด และการเมืองของประชากรในประเทศอื่น เช่นตัวอย่างของ Google, Facebook และ Twitter

ในประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 24.4% ซึ่งต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่ GDP ใกล้เคียงกัน มาเลเซีย และสิงคโปร์มีการเข้าถึงที่ 65.7% และ 72.4% ในขณะเดียวกันสัดส่วนโฆษณาออนไลน์ของไทย มีอยู่ไม่ถึง 2% ซึ่งต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้จากธุรกิจโฆษณารวมทุกสื่อ​ ซึ่งมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี และเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นการโฆษณาบนโทรทัศน์ มีอยู่เพียง 2 พันล้านบาทที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจเว็บไทย

ในจำนวนนี้ก็มิใช่น้อยที่ถูกแบ่งไปโดยธุรกิจข้ามชาติ เช่น Google, MSN หรือ Facebook จึงมีเงินไม่กี่ร้อยล้านบาท ที่เลี้ยงดูธุรกิจออนไลน์สัญชาติไทยหลายร้อยเว็บไซต์ ลองเปรียบเทียบดู Google บริษัทเดียวมีรายได้โฆษณาออนไลน์ 7 แสนล้านบาทต่อปี

อีกตัวอย่าง อัตราโฆษณาออนไลน์ของ Advertising Network เช่น Google Adsense ในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ย 0.2 สตางค์ต่อการเข้าชมหนึ่งหน้า หรือหากเว็บไซต์มีการเข้าชม 1 พันหน้า ก็จะมีรายได้ 2 บาทต่อวัน ในขณะที่ในสหรัฐจะมีอัตราที่สูงกว่านี้เกือบร้อยเท่า จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ชาวอเมริกันสามารถหาเลี้ยงชีพได้ โดยการเขียนบล็อกเป็นรายได้หลัก และที่ธุรกิจออนไลน์อยู่ในทำเนียบบริษัทที่มีรายได้สูงสุดในสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทย มีความพยายามที่จะเพิ่ม Awareness และ Educate ตลาดในความสำคัญของโฆษณาออนไลน์ โดยมี Web Wednesday เป็นตัวอย่างสำคัญ ทั้งนี้และทั้งนั้น อุปสรรคที่สำคัญคงเป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยมีคนไทยอีก 73.6% ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นปัญหาของ Digital Divide และไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น

ทั้งนี้อาจทำให้สื่อพื้นฐาน ซึ่งเข้าถึงประชากรได้เกือบทั้งประเทศ กลับทวีความแข็งแกร่ง และสวนกระแสตลาดโลก เพราะในมุมมองของผู้โฆษณาแล้ว เงินทั้งหมดมาจากเค้กก้อนเดียวกัน และต้องลงในสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

Published in Krungthepturakij on April 27, 2010