Uber กำลังจะถูกกฎหมายแล้ว ในประเทศจีน
/สวนกระแสสังคมโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ที่รัฐบาลในหลายประเทศ ยังคงปกป้องธุรกิจจากยุคเดิม จากการถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ด้วยนวัตกรรมปลาเร็วล้มปลาใหญ่ โดยนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ ที่อาจต้องนำไปสู่การล่มสลายของธุรกิจจากยุคก่อนหน้า ทันทีที่รัฐบาลจีนประกาศว่า Uber กำลังจะถูกกฎหมายแล้ว
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็เป็นข่าวดีสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) ของประเทศ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว กำลังจะเป็นทั้งบรรทัดฐานและกรณีศึกษา ของการพัฒนาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ที่ยังไม่ยืดหยุ่น ต่อพัฒนาการของธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบยอดนิยมที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามสำหรับสตาร์ทอัพในยุคนี้
Uber เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริกา ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 62,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยใช้เวลาเพียง 7 ปี มีให้บริการอยู่ใน 66 ประเทศทั่วโลก และใช้ทุนเริ่มต้นเพียง 200,000 ดอลล่าร์
แนวคิดของ Uber มีรากฐานมาจาก Sharing Economy นั่นก็คือ ใครก็ได้ สามารถนำทรัพยากรที่ตนมีอยู่ มาให้บริการในตลาด สำหรับกรณีของ Uber เป็นการรถยนต์ที่ตนมีอยู่มาให้บริการเป็นรถยนต์โดยสาร โดยที่ลูกค้าสามารถใช้สมาร์ทโฟนเพื่อค้นหาและทำธุรกรรมกับคนขับรถ Uber ได้
ถึงแม้ว่าคนขับรถ Uber และรถที่นำมาให้บริการส่วนใหญ่จะไม่ได้จดทะเบียนเป็นคนขับและรถแท็กซี่ แต่โดยพฤตินัย Uber เป็นการให้บริการที่คล้ายแท็กซี่ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต และเป็นการแข่งขันในตลาดกับอุตสาหกรรมรถแท็กซี่โดยตรง จึงเป็นที่มาของการประท้วงโดยผู้ให้บริการแท็กซี่ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
แม้กระทั่งในประเทศไทย ได้มีข่าวคราวของการประท้วงและปราบปราม ทั้ง Uber และบริการในรูปแบบที่คล้ายกัน เช่น GrabTaxi อยู่หลายครั้งหลายหน
ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม กรมขนส่งทางบก ได้มีคำสั่งให้ Uber Moto และ Grab Bike ยุติการให้บริการในทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า ธุรกิจในรูปแบบนี้ สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมให้กับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าสู่ระบบการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ ผู้ให้บริการและรถไม่ได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้อง
กรณีดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แม้กระทั่ง สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศษ ฯลฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Uber ก็มีการการประท้วงและปราบปราม Uber อยู่ในหลายพื้นที่
จึงเกิดเป็นการวิพากย์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการรถโดยสาร ระหว่างการเลือกใช้ บริการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตแต่ลูกค้าชอบ และบริการที่ได้รับใบอนุญาตแต่ลูกค้าไม่ชอบ เป็นที่แน่นอนว่า การขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็วของ Uber เป็นผลมาจากการให้บริการที่ลูกค้าชอบมากกว่าบริการในรูปแบบเดิม
อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ในประเทศจีน หนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Uber นั้นก็คือ รัฐบาลได้ออกมาประกาศว่า Uber กำลังจะถูกกฎหมายแล้ว และได้ออกกฎระเบียบสำหรับกำกับดูแล Sharing Economy ประเภทรถโดยสารไว้เป็นกรณีพิเศษ โดยมีเนื้อความว่า
1. รัฐบาลจีนจะสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจประเภท Sharing Economy ซึ่งรวมไปถึงประเภทรถโดยสาร
2. คนขับรถจะต้องมีประสบการณ์ขับรถไม่ต่ำกว่า 3 ปี
3. รถยนต์ ห้ามมีเกินกว่า 7 เก้าอี้ และห้ามใช้งานเกินกว่า 6 แสนกิโลเมตร
4. ข้อมูลการใช้งาน จะต้องถูกเก็บบันทึกในประเทศจีนไม่ต่ำกว่า 2 ปี
5. ธุรกิจ Sharing Economy ห้ามทำแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม เช่นกำหนดราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อทำลายคู่แข่งและยึดครองตลาด
ในเบื้องแรก Uber ได้แถลงการณ์ตอบรับนโยบายของรัฐบาลจีนในเชิงบวก แต่ได้มีการวิพากย์วิจารณ์จากภายนอกว่า กฎระเบียบที่ห้ามการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอาจเป็นผลลบกับ Uber เนื่องจากหลากหลายวิสาหกิจเริ่มต้นได้ใช้ยุทธวิธีดัมพ์ราคา โดยยอมขาดทุนเป็นจำนวนมากติดต่อกันหลายปีเพื่อทำลายคู่แข่งและยึดครองตลาด
โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ย่อมสามารถที่จะยอมขาดทุนได้เป็นเวลานาน ในเบื้องแรกอาจดูเสมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ดีกับผู้บริโภค เพราะเป็นการให้บริการในราคาที่ต่ำกว่าตลาด แต่เมื่อทำลายคู่แข่งและยึดครองตลาดได้สำเร็จ ก็จะสามารถยึดผู้บริโภคเป็นตัวประกันได้ในที่สุด
และสำหรับอีกข้อหนึ่ง ที่บังคับให้วิสาหกิจต้องเก็บบันทึกข้อมูลไว้ในภายประเทศจีน เป็นยุทธวิธีที่สำคัญที่จะกำกับดูแลธุรกิจสตาร์ทอัพให้อยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะธุรกิจอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ให้บริการมาจากนอกประเทศ ทำให้เกิดเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเป็นช่องว่างให้อยู่เหนืออำนาจปกครองของประเทศนั้น การบังคับให้ต้องเก็บบันทึกข้อมูลไว้ในประเทศจีน เป็นการบังคับให้ธุรกิจต้องมีระบบเซอร์เวอร์หรือคลาวด์อยู่ภายในประเทศ จึงต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายของประเทศจีน
นโยบายของรัฐบาลจีน เป็นทั้งบรรทัดฐานและกรณีศึกษาที่สำคัญ สำหรับการพัฒนานวัตกรรมทางกฎหมาย ที่สอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ และ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และสนับสนุนการสร้าง New Engines of Growth ที่จะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับประเทศจีนต่อไป
จึงสมควรติดตาม ถึงท่าทีของประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย ว่าจะมีพัฒนาการต่อจากนี้ไปอย่างไร หลังจากที่ประเทศจีน ได้ออกมาสวนกระแสด้วยการสร้างบรรทัดฐานดังกล่าวแล้ว
Published in Krungthepturakij on August 2, 2016