ทางเลือกของผู้บริโภค ความเหลื่อมล้ำในยุคดิจิทัล
/สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ของ"กรุงเทพธุรกิจทีวี" ประเด็นสำคัญที่ได้แลกเปลี่ยน คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล จากการที่มีสมาร์ทดีไวซ์ในยุคดิจิทัล ตัวอย่าง สมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือกระทั่งคอมพิวเตอร์ ที่ สามารถรับชมข้อมูลข่าวสารได้จากทุกที่และทุกเวลา ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่มี 3 จี, 4 จี, แอลทีอี, ไวไฟ ฯลฯ เป็นสื่อนำ
ความแตกต่างของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล คือการนำมาซึ่งทางเลือกและความเป็นอินเตอร์ แอคทีฟ มิติที่สำคัญของทางเลือก คือ เนื้อหา อุปกรณ์ สถานที่ และ เวลา สำหรับเนื้อหา ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล สามารถเลือกชมเนื้อหาที่ต้องการได้ อย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น ผู้บริโภคสามารถเลือกดูคลิปวีดิโอที่ต้องการผ่านยูทูบได้ โดยไม่ต้องคอยให้ช่องสถานีโทรทัศน์เป็นผู้คัดสรรรายการ ในอีกตัวอย่าง ผู้บริโภคสามารถเลือกอ่านบทความที่ต้องการ โดยค้นหาผ่านกูเกิล และไม่ต้องอาศัยหนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์เป็นผู้คัดสรรบทความ
สำหรับอุปกรณ์ ในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ สมาร์ทดีไวซ์ เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือกระทั่งคอมพิวเตอร์ ในการรับชมรายการ ในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า กว่า 50% ของประชากรในประเทศ จะเป็นผู้พกพาสมาร์ทโฟน นับวัน ประเภทของสมาร์ทดีไวซ์ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น สมาร์ทดีไวซ์ที่น่าสนใจในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ สมาร์ททีวี และ สมาร์ทคาร์
สำหรับสถานที่ ในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคสามารถใช้ สมาร์ทดีไวซ์เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในทุกที่ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ การแพร่กระจายของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่มี 3 จี, 4 จี, แอลทีอี, ไวไฟ ฯลฯ เป็นสื่อนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการประมูล 3 จี โดย กสทช. ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า 3 จี จะครอบคลุม 80% ของประชากรในประเทศไทย
สำหรับเวลา นอกจากความสามารถในการเลือกดูได้ทุกที่ทุกเวลา ในยุคดิจิทัลผู้บริโภคสามารถย้อนดูรายการในอดีตได้ เช่น รายการย้อนหลังที่มีเผยแพร่อยู่ยูทูบ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่อย่างถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม
ความเป็นอินเทอร์แอคทีฟ คือการที่ ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล สามารถมีการโต้ตอบกับเนื้อหา เช่น การกดไลค์ การเขียนบทวิจารณ์ การแชร์ต่อให้เพื่อนๆ หรือกระทั่งการเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและเผยแพร่ผ่านช่องทางดิจิทัล
ผู้บริโภคที่ไม่สามารถเข้าถึงยุคดิจิทัลได้ ย่อมเสียโอกาสทางด้านทางเลือกและความเป็นอินเตอร์แอคทีฟ และมีความคุ้นเคยกับ การรับชมเนื้อหา ที่ช่องสถานีโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เป็นผู้คัดสรรมาแล้ว ผ่านอุปกรณ์หรือสื่อที่อยู่จำกัด ได้แก่เครื่องโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ และปราศจากอิสรภาพทางด้านสถานที่และเวลา อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และมูลค่าของสื่อกว่า 70% ของประเทศ ยังเป็นรายได้ที่เกิดจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้
ตัวอย่างที่สำคัญคือ โฆษณาคั่นรายการ เป็นรูปแบบของโฆษณาที่มีอิทธิพลและมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากผู้บริโภคนอกยุคดิจิทัล ยังขาดทางเลือก ที่จะหลีกเลี่ยง โฆษณาคั่นรายการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกตัวอย่าง คือการนำเสนอรายการต่างๆ ผ่านช่องทางของสถานีโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ที่สามารถโน้มน้าวความคิดของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคนอกยุคดิจิทัล ยังขาดทางเลือก ที่จะรับชมข้อมูลข่าวสารจากช่องทางอื่นๆ สำหรับ ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โฆษณาคั่นรายการ ไม่ใช่รูปแบบของโฆษณาที่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป เนื่องจากผู้บริโภคในยุคดิจิทัล มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยง และการโฆษณาในยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของโปรดักท์ เพลสเมนท์ และการทำเนื้อหาให้น่าสนใจ จนเกิดเป็น ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง หรือ เวิร์ดออฟเมาธ์ มาร์เก็ตติ้ง ต่อไป
โดยอาศัยการมีทางเลือกของผู้บริโภค เป็นพลังขับเคลื่อนเนื้อหาและการแพร่กระจายของโฆษณา นอกจากนี้ ช่องสถานีโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่จำกัด ย่อมไม่สามารถโน้มน้าวความคิดความเชื่อของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้ เนื่องจากผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลที่เป็นความจริง จากกูเกิล หรือช่องทางอื่นๆ ได้จากทุกที่ทุกเวลา
ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ยังคงเป็นส่วนน้อยของประชากรในประเทศไทย และส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มของเจนเนอเรชั่นวาย แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและเจนเนอเรชั่นวายได้เติบโตขึ้นและมีหน้าที่การงานที่สำคัญ ในไม่ช้า ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล อาจเป็นส่วนมากของประชากรก็เป็นได้ ซึ่งยังเป็นกรณีที่ต้องติดตาม
ปัจจุบันสื่อในยุคดิจิทัลของไทย มีมูลค่าอยู่ระหว่าง 1-3 % ของมูลค่าสื่อทั้งประเทศ ในขณะที่บางประเทศ เช่นอังกฤษ สื่อในยุคดิจิทัล ได้มีมูลค่าสูงกว่าโทรทัศน์ไปแล้ว
แต่ถึงกระนั้น ผู้บริโภคที่ไม่สามารถเข้าถึงยุคดิจิทัลได้ ก็คงจะไม่หายไป เนื่องจากข้อจำกัดทาง เทคโนโลยี สังคม และ เจนเนอเรชั่น ล่าสุด ได้มีการสำรวจว่าในสหรัฐ อายุเฉลี่ยของผู้ชมโทรทัศน์ ได้สูงกว่า 50 ปี สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศไทย อาจเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และผู้บริโภคนอกยุคดิจิทัล ที่อาจแบ่งแยกโดยเจนเนอเรชั่น เมื่อกำแพงอื่นๆ ทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจได้ถูกทำลายลง
อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่สมควรติดตาม มูลค่าของสื่อทั้งประเทศ ที่มีมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี กำลังจะถูกจัดสรรครั้งใหม่ จึงเป็นทั้งโอกาสในทางเลือกของผู้บริโภค และโอกาสในเชิงธุรกิจสำหรับผู้ที่มีไหวพริบ และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ต่อไป
Published in Krungthepturakij on October 29, 2013