พรบ คอม หลงยุค Social Media

ปัจจุบันเป็นยุค Web 2.0 เว็บไซต์ในรูปแบบของ Social Networks หรือ Social Media เช่น Facebook, Twitter, Youtube ฯลฯ มีการเข้าถึงสูงสุด วิถีของการใช้งาน Internet ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้ใช้งานเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารในคนเดียวกัน ผู้ดูแลและให้บริการระบบมิใช่ผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารอีกต่อไป การที่ผู้ดูแลและให้บริการระบบจะต้องร่วมรับผิดชอบกับผู้ใช้ที่กระทำผิดไม่ต่างกับ ผู้ให้บริการทางด่วนที่ต้องร่วมรับผิดชอบกับอุบัติเหตุทุกครั้ง หรือผู้ให้บริการไปรษณีย์ที่ต้องร่วมรับผิดชอบกับจดหมายหรือพัสดุทุกชิ้น โดยมิได้มีเจตนาร่วมกับการกระทำผิด

Facebook มีผู้ใช้เกือบ 700 ล้านคนทั่วโลก และ 9 ล้านคนในประเทศไทย ข้อมูลข่าวสารทั้งหมด คือข้อความ ภาพ เสียง และวีดีโอ ที่ผู้ใช้งานแลกเปลี่ยนและส่งต่อซึ่งกันและกัน พนักงานเพียง 2,000 คน ย่อมไม่สามารถดูแลตรวจทานทุกข้อมูลข่าวสาร ที่อาจมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้าน ข้อความ ภาพ เสียง และวีดีโอ ต่อวัน

อย่างไรก็ดี ผู้รับเคราะห์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้กลับเป็นผู้ให้บริการและผู้ดูแลเว็บของไทย ทั้งนี้ Facebook, Twitter, Youtube ฯลฯ ล้วนไม่มีตัวตนอยู่ในประเทศ​ การปราบปรามหรือกระทั่งขอความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นไปได้ยาก เว็บไซต์ของไทยหลายเว็บมีผู้ใช้งานในประเทศไม่แพ้ Facebook แต่มีกำลังคนและทรัพย์ที่น้อยกว่าเป็นพันหรือหมื่นเท่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด SME จึงไม่สามารถตรวจสอบดูแลได้อย่างทั่วถึง

ซ้ำร้ายไปกว่านี้ ผู้ให้บริการและผู้ดูแลเว็บไทยล้วนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งซึ่งง่ายต่อการจำกุมปราบปรามและเป็นผู้รับเคราะห์ของกฎหมายฉบับนี้ ในขณะที่ผู้กระทำผิดที่แท้จริงกลับสามารถลอยนวลหลบหนีต่อไปได้ซึ่งอาจมิใช่เจตนารมณ์ของการออกกฎหมายฉบับนี้อย่างแท้จริง

ประเทศไทยล้าหลังมากทั้งด้านอุตสาหกรรม Internet และเว็บไซต์ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเลย

Published in Transport Journal in April 2011