พ.ร.บ. ดิจิตอล 3 ฉบับ

โค้งสุดท้าย สำหรับ พ.ร.บ. ดิจิตอล 3 ฉบับ ที่พึ่งผ่านการเห็นชอบโดย ครม. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลฯ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ร่างพ.ร.บ.กสทช. ต้องถือเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเร้าใจและสมควรติดตาม เพราะเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎระเบียบและโครงสร้างของการกำกับดูแลรวมทั้งการสนับสนุน การพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในระดับประเทศ

ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลฯ ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีแผนระดับชาติ ในการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกเป็นประธาน และมีกรรมการที่ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกคัดเลือก

วาระที่น่าสนใจ คือการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่มาจาก 25% ของรายได้ของประเทศจากการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงเป็นที่น่าติดตามว่า จะมีผลย้อนหลังไปถึงรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะหากมี ย่อมหมายถึงเงินก้นถุงของกองทุน ที่เร่ิมต้นด้วยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 15 เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการให้รอดพ้นจากความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อความว่า

“ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14”

โดยได้เพิ่มวรรค

“ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันผู้ให้บริการจะมีความผิดเทียบเท่ากับผู้ที่กระทำผิดจริง ยกตัวอย่างเช่น หาก Facebook หรือ YouTube ได้มีการจดจัดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทย ทุกครั้งที่มีผู้นำเสนอเนื้อหาสาระที่มีความผิดตามมาตรา 14 เช่นข้อความที่ผิดกฎหมาย หรือวีดีโอที่ผิดกฎหมาย Facebook และ YouTube จะต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีโทษทางอาญา และคงจะนับเป็นหลายร้อยคดีต่อวัน หรือหลายหมื่นถึงแสนคดีต่อปี หากมีการเอาผิดจริง

แต่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ โดยให้รัฐมนตรีออกประกาศให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตาม

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการ ย่อมต้องทราบดีว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ฉบับเดิม เป็นตำนานระดับโลก แห่ง Thailand Only ที่มีการเอาผิดทางอาญากับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจอันร้ายกาจ ที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก หลีกเลี่ยงที่จะจดจัดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทย และเลือกให้บริการเข้ามาในประเทศไทยจากเพื่อนบ้านเช่น สิงคโปร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตาม ประกาศที่รัฐมนตรีจะออกตามกฎหมายต่อไป ว่าจะสอดคล้องต่อแนวทางสากลอย่างไร

สุดท้ายนี้ ร่างพ.ร.บ.กสทช. ต้องถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติตามแผนของ คณะกรรมการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้มีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการยุบรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ภายใต้ กสทช. เข้าด้วยกัน และยังลดจำนวนกรรมการ กสทช. จาก 11 เหลือเพียง 7 เพื่อความเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ในยุคหลอมรวมสื่อ (Convergence)

หากนึกย้อนกลับไป พรบ.กสทช. ในปี 2543 ได้กำหนดองค์กรกำกับดูแลเป็น 2 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ต่อมา พรบ.กสทช. ในปี 2553 ได้เริ่มประจักต์ถึงการเข้าสู่ยุคแห่ง Convergence จึงได้ยุบรวมเป็นหนึ่งองค์กร กสทช. แต่ยังคงมี 2 คณะกรรมการ ได้แก่ กสท. และ กทค.

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กสทช. ล่าสุด ได้เข้าสู่บริบทแห่ง Convergence อย่างแท้จริง และยุบรวม กสท. และ กทค. เหลือเพียงคณะกรรมการชุดเดียว

ร่างพ.ร.บ.กสทช. ยังได้มีการแก้ไข รายละเอียดปลีกย่อยของข้อกฎหมายต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแลรวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม จากประสบการณ์หลายปีที่ได้เรียนรู้มา แต่ก็ยังอาจมิใช่ทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น ยังคงมีความลักลั่นในการกำกับดูแลเนื้อหา หากเป็นเนื้อหาบนโทรทัศน์ทั้งในระบบเดิมและระบบดิจิตอล กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลอย่างเต็มที่ แต่หากเป็นเนื้อหาเดียวกันแต่เผยแพร่ผ่าน YouTube กลับเป็นหน้าที่ของ กระทรวง ICT ในขณะที่ กสทช. สามารถกำกับดูแลเพียงโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นต้น

พ.ร.บ. ดิจิตอล 3 ฉบับ เป็นหนึ่งก้าวเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง และสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนสนับสนุน การพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่อไป หลังจากที่ได้ห่างเหินเป็นเวลาเวลาเกือบทศวรรษ และที่สำคัญ เงินจากการประมูลคลื่นความถี่ จะได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาดิจิตอล เพื่อประเทศไทยสามารถก้าวทันประเทศเพื่อบ้าน และเป็นจุดศูนย์กลางทางดิจิตอลแห่งหนึ่งของภูมิภาคครับ

Published in Krungthepturakij on April 26, 2016