สตาร์ทอัพ ไม่มีวันตาย
/กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสสัมผัสกับ การเกิด การพัฒนา การรุ่งเรือง และกระทั่งการล่มสลาย ของธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านหลายยุคหลายสมัย ซึ่งมีทั้งประสบการณ์ส่วนตัว ประสบการณ์ของเพื่อน ประสบการณ์ของอาจารย์ และประสบการณ์ของคนที่ได้ติดต่อทำธุรกิจด้วย 15 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้เขียน ยังคงเป็นนักศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นยุคหนึ่ง ที่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นักศึกษา พนักงานบริษัท รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีความสามารถและความพยายาม ต่างก็ลาออก ไปทำธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ก็มี นักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน ที่ไม่ได้ลาออก แต่ก็ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ไปพร้อมกับการเป็นนักศึกษาและอาจารย์ โดยทำข้อตกลงแบ่งหุ้นให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย
เมื่อสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ มหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ในขณะนั้น จึงได้รับเงินสดที่มีมูลค่ามหาศาล ที่นำมาสร้างตึก ห้องวิจัย จ้างอาจารย์ รวมทั้งให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ใช้อีกเป็นทศวรรษก็ไม่มีวันหมด
อาจารย์ที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ด้วยในขณะนั้น มีอยู่จำนวนมาก ที่ได้เป็นเศรษฐี จากการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของตนได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว
ธุรกิจสตาร์ทอัพในยุคนั้น ที่สหรัฐอเมริกา มีอยู่จำนวนมากที่เกิดขึ้นภายในรั้วของมหาวิทยาลัย
ธุรกิจที่ผู้เขียนคุ้นเคยมากที่สุดในยุคนั้น คือ Lycos.com ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจิ้นยุคแรกเริ่มของโลก ที่พัฒนาโดยนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย และเงินทุนที่ไม่มากนัก ซึ่งท้ายที่สุดก็ขายได้ด้วยมูลค่า 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี ความรุ่งเรื่องของธุรกิจสตาร์ทอัพในขณะนั้น ก็ได้สิ้นสุดลงด้วย ยุคของฟองสบู่แตก (Dot-Com Bubble) นักธุรกิจสตาร์ทอัพใน Generation Y อาจคุ้นเคยเพียงแค่ วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ในปี 2008 (Hamburger Crisis) แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างแท้จริงนั้นคือ Dot-Com Bubble ที่เกิดขึ้นในปี 2000
หลังจาก Dot-Com Bubble ผู้ที่เคยท่องยุทธจักรอยู่ในธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็ได้สมัครกลับเข้ามาเพื่อเรียนต่อ หรือกลับมาเป็นพนักงานบริษัทอีกครั้งหนึ่ง และในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น สังคมทั่วไปก็ไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัพอีก แม้กระทั่งผู้ที่เคยไปท่องยุทธจักรและไม่ประสบความสำเร็จ ก็แทบจะลบช่วงเวลานั้นออกจาก Resume ของตัวเอง เพราะความอับอาย ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวในระดับวิกฤตการณ์
จากประสบการณ์ส่วนตัว และจากข้อมูลที่เคยได้รับจากในอุตสาหกรรม ราว 5% หรือ 1 ใน 20 ของธุรกิจสตาร์ทอัพเท่านั้น ที่จะประสบความสำเร็จ
แต่ถึงกระนั้น ราวครึ่งทศวรรษต่อมา ผู้ที่เคยประสบความสำเร็จและกระทั่งผู้ที่เคยล้มเหลว ส่วนหนึ่งก็ได้หวนกลับเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพอีกครั้งหนึ่ง ด้วยประสบการณ์ที่หนาแน่นกว่าเดิม และลดจำนวนแมงเม่ากับปริมาณความบ้าบิ่นจากครั้งก่อน จึงได้กำเนิดเป็นยุคต่อไปของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของเทคโนโลยีและตลาด ซึ่งก็มีผู้คนหน้าใหม่เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ตามยุคตามสมัยของโลกมนุษย์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม บทบาทของจอมยุทธ์แต่ละท่าน ย่อมก็ต้องมีวิวัฒนาการ ที่พัฒนาตามอายุที่มีมากขึ้น ทรัพย์สินที่มีมากขึ้น และประสบการณ์ที่มีมากขึ้น ที่นำไปสู่ จิตวิทยาของการลงทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้ที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นเยาว์ ย่อมต้องยอมรับได้ ที่จะทุ่มเททุกลมหายใจจนแทบจะขายจิตวิญญาณของตน เป็นเวลา 3 - 5 ปีของชีวิต หรือนานกว่านั้น เพื่อที่จะแลกกับโอกาสที่ประสบความสำเร็จ เพียง 5% หรือ 1 ใน 20 เพราะต้นทุนของเวลาและค่าเสียโอกาสของพวกเขายังคงต่ำอยู่ อีกทั้งยังมี วีรบุรุษ ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นไอดอล ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักล่าฝันรุ่นเยาว์เหล่านี้มีกำลังใจเกินร้อย
แต่ผู้ที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความอาวุโสและทุนทรัพย์ระดับหนึ่งแล้ว มีส่วนหนึ่งที่ได้วิวัฒนาการไปเป็นผู้บริหารพอร์ตหรือนักลงทุน แทนที่พวกเขาจะทุ่มเทกับธุรกิจเดียว ที่มีโอกาสล้มเหลว 95% เพราะเขามีต้นทุนของเวลาและค่าเสียโอกาสที่สูงแล้ว พวกเขาจึงแบ่งลมหายใจ จิตวิญญาณ และทุนทรัพย์ของเขา กับหลากหลายธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน และเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ โดยมีความเป็นนักบริหารที่ใช้เหตุผลและหลักสถิติมากกว่าความเป็นนักล่าฝัน
เพื่อนของผู้เขียน ที่เป็นผู้บริหารกองทุนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนเคยเล่าให้ฟังว่า เป้าหมายของกองทุนของเขา หากลงทุนใน 10 ธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 ธุรกิจจะล้มเหลวภายในปีแรก ในขณะที่ อีก 3 ธุรกิจจะล้มเหลวภายใน 2 ปีต่อมา และอีก 2 ธุรกิจจะมีรายได้ในระดับที่ประคับประคองตัว แต่ไม่รวย ทั้งนี้ จึงต้องมี 1 ธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม คือต้องได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 10 - 20 เท่าของการลงทุน กองทุนในภาพรวมจึงจะได้กำไร
การที่รัฐบาลไทย เริ่มมาให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย จนเป็นวาระแห่งชาติ ในยุคนี้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องถือว่าช้ามากแล้ว เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างเช่น เวียดนาม หรือ อินโดนีเซีย ได้เริ่มต้นก่อนเป็นเวลาเกือบทศวรรษ แล้ว และมีหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จจนเข้าตลาดหลังทรัพย์ และคงไม่ต้องพูดถึง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นหลัง สหรัฐอเมริกา อเมริกาไม่นานนัก
สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งปฎิบัติการ คือข้อเรียกร้องของธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่วนหนึ่ง ก็ไม่ต่างกับการเรียกร้องให้พัฒนา ความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนากฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ หรือกระทั่งต้นทุนที่วัดเป็นเงินได้ ที่มีผลมาจากกฎหมายและหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลากหลายธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย ต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแย่งชิงตลาดภูมิภาค และกระทั่งตลาดโลก เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ว่ากฎหมายและหลักเกณฑ์ของไทย ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซียหรือสิงคโปร์
เกิดคำถามที่ว่า สตาร์ทอัพของไทย เป็นฟองสบู่หรือไม่ คงต้องตอบว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม วัฏจักรของเศรษฐกิจ แม้ 95% ของธุรกิจสตาร์ทอัพอาจล้มเหลว แต่บุคลากรก็คงอยู่ ประสบการณ์ก็คงอยู่ และความฝันก็ยังคงอยู่ เมื่อมีโอกาสอันเหมาะสม สตาร์ทอัพ สามารถเกิดขึ้นมาใหม่ได้เสมอ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยของธุรกิจสตาร์ทอัพ
Published in Krungthepturakij on May 10, 2016