Beyond 3G การปฏิรูปโทรคมนาคมที่แท้จริง

ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ผมมั่นใจว่าจะมีเพียงเสียงส่วนน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับความพยายามของ กทช. ในการผลักดันเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ 3G ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความพยายามปฏิรูปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นครั้งแรกในไทย ท่ามกลางความนิ่งเฉย และไม่ชัดเจนจากนโยบายภาครัฐ จนประเทศล้าหลังเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยมีเพียง 10% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และกระจุกตัวเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ จนเกิดเป็นปัญหาของ Digital Divide ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม การให้บริการ 3G ตามแผนนโยบายของ กทช. จะผลักดันให้การเข้าถึงระบบสารสนเทศเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของประชากร และจะทำให้ Digital Divide หายไปภายใน 4 ปี หากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง จะมีประโยชน์สุดคณานับ ทั้งความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่วัดได้ในรูปแบบ GDP ในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามแนวทางปรองดองของรัฐบาลด้วย

แต่แล้วนโยบายของ กทช. กลับต้องมาเผชิญกับอุปสรรค จากการดำเนินการของหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง กลายเป็นคดีความฟ้องร้อง เป็นศึกสายเลือด โดยเหตุการณ์ "รัฐฟ้องรัฐ" ทำให้สิ่งที่ดีต่อประเทศกลับอาจผิดกฎหมาย ผู้หวังดีกับประเทศกลายเป็นจำเลย ทั้งของศาลและของสังคม

ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร กทช.จะมีอำนาจหรือไม่ก็ตาม การปฏิรูปโทรคมนาคมที่แท้จริง ซึ่งต่อจากนี้ไป ในยุคของเทคโนโลยีไร้สาย หรือ Beyond 3G คงเป็นการจุดประกายสามัญสำนึกให้กับคนไทยทั้งชาติ ที่ต้องตั้งคำถาม และสร้างแรงกดดันให้กับผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่เคยจัดตั้ง กสช. ได้สำเร็จ

ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนล่วงเลยมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะเหตุใด การจัดตั้ง กสทช. พึ่งมาเร่งรัดเมื่อ กทช. ได้ผลักดันนโยบาย 3G อย่างจริงจัง มีหลายประเด็นที่รัฐสามารถทำได้ก่อนหน้านี้ ที่จะแก้ไขปัญหาของชาติ และ 3G ได้ แต่กลับถูกนิ่งเฉย มีความไม่ชัดเจนมาโดยตลอด

แม้กระทั่งเรื่องการแปรสัญญาสัมปทานระบบโทรศัพท์ 2G เป็นใบอนุญาต (K2) รวมถึงการกำหนดแผน บรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband) ซึ่งอาจเป็นทางออกให้กับรัฐวิสาหกิจ เช่น กสท โทรคมนาคม และทีโอที ก็พึ่งจะมาเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งที่ควรถูกกระทำไปแล้วหลายปีก่อนหน้านี้

หากศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ องค์กรรัฐวิสาหกิจ เช่น กสท โทรคมนาคม และทีโอที ส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาองค์กรจนมีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน รวมทั้งการสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น Telenor จากนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมอันดับ 6 ของโลก หรือกระทั่ง SK Telecom NTT ฯลฯ ที่ยังครองความเป็นหนึ่งในประเทศของตัวเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจไม่ใช่ความผิดของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมไม่ใช่ความผิดของ กทช. ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย หรือแม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจ

แต่ปัญหา และความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะประชาชนคนไทยทั้งประเทศนิ่งเฉยดูดาย ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประโยชน์ที่พึงมีต่อประเทศชาติ เพื่อรวมกันให้เกิดเป็นเจตจำนงของประเทศชาติ อันเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกัน (Political Will) ที่เพียงพอต่อการผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มรูปแบบ

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมขอยกย่อง พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. ชื่อของท่านจะถูกจดจำโดยคนไทยนับล้าน ในฐานะผู้เสียสละแทนสังคม เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้คนไทยทั้งชาติ

Published in Krungthepturakij on September 21, 2010