iPhone 4 กระหึ่ม แต่ไร้เงา 3G

นับแต่วันที่ iPhone 3G ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย Smartphone ได้มามีอิทธิพลกับชีวิตและสังคมของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับแต่วันที่ iPhone 3G ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี True Move เป็นผู้ให้บริการรายเดียว จนมาถึงวันนี้ได้เป็น iPhone 4 และ มีผู้ให้บริการครบทุกราย คงปฎิเสธไม่ได้แล้วว่า Smartphone ได้มามีอิทธิพลกับชีวิตและสังคมของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังมี Smartphone ในระบบ Android ที่ผลิตโดย Motorola Samsung HTC ฯลฯ iPhone และ Android เป็น Generation ใหม่ของ Smartphone ที่เพิ่มขีดความสามารถ และความง่ายดายของการใช้งาน

ความสามารถหลักของ Smartphone ไม่ใช่เสียง (Voice) อีกต่อไป แต่เป็นการใช้งาน Data และ Application (Non-Voice) จนเกิดเป็นสถิติการใช้ Internet ผ่านมือถืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเกิดเป็นตลาด App ซึ่งได้มาเป็นอุตสาหกรรมแสนล้านในเวลาไม่ถึงปี ยังได้มีบริการใหม่ๆเกิดขึ้นอีกมากมายเช่น Location-Based Service ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับ Smartphone มากกว่า Desktop PC ทั่วๆไป เพราะความคล่องตัวและ Mobility ของ Smartphone

อย่างไรก็ดี ผู้ที่เข้าถึง Smartphone ในปัจจุบัน อาจมีไม่ถึง 5-10% ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขของราคา และความใหม่ของเทคโนโลยี แต่มีการคาดการณ์โดย Frost and Sullivan ว่าภายใน 2015 Smartphone จะเป็น 54% ของตลาดมือถือใน Asia Pacific ซึ่งอาจหมายถึงการขยายตัว 5-10 เท่าในระยะเวลา 4 ปี

สำหรับในประเทศไทยซึ่ง Mobile Penetration เกือบ 100% แล้ว อาจหมายความว่าจะมีผู้ใช้ Smartphone กว่าครึ่งหนึ่งของประชากร เช่นเดียวกับ Developing Country อื่นๆ แนวโน้มนี้ชี้นำว่า Smartphone จะกลายมาเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึง Internet ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยมีการเข้าถึง Internet ความเร็วสูงเพียง 10% และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ Smartphone จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับปัญหา Digital Divide ในประเทศไทย ผู้ได้ประโยชน์จาก Smartphone ในอนาคตอันใกล้จะเป็นผู้มีรายได้ต่ำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แทนที่จะเป็นเป็นคนเมืองหรือผู้มีรายได้สูงอย่างที่เข้าใจผิดกันอยู่

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งกับกรณี 3G ของประเทศไทย เพราะถึง Smartphone จะเป็น 54% ของตลาดมือถือ แต่หากไม่มีเครือข่าย 3G ประสิทธิภาพและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก Smartphone ในการเข้าถึง Data และ Application ย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งกำหนดเดิมของ กทช. ต้องการให้ครอบคลุม 80% ของประชากร

ถึงจะมีข้อเสนอโดยภาครัฐให้ใช้คลื่นที่มีอยู่แล้วสำหรับให้บริการ 3G แต่คลื่นเหล่านั้นล้วนไม่ใช่ 2.1Ghz ซึ่งเป็นคลื่นหลักสำหรับ 3G หากไม่ใช่ 2.1Ghz แล้วอุปกรณ์ทั้งโครงข่ายจนถึง Smartphone ย่อมหาได้ยากและมีราคาสูง เพื่อเป็นตัวอย่าง Android Smartphone ที่รองรับคลื่นความถี่ 850Mhz มีน้อยรุ่นมาก ในขณะที่ส่วนใหญ่แล้วรองรับ 2.1Ghz สำหรับอุปกรณ์โครงข่ายก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ต้องสั่งทำพิเศษเพื่อรองรับ 850Mhz จึงเกิดต้นทุน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากคลื่นความถี่ที่ไม่มาตรฐาน

นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ย่อมเป็นข้อดีสำหรับประเทศและประชาชนทั่วไป และเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรมีมานานแล้ว แต่ด้วยแนวโน้มของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้าถึง Internet ด้วย Smartphone แล้ว ประสิทธิผลของบรอดแบนด์แห่งชาติ ย่อมจะเป็นรอง 3G เป็นอย่างมากในการแก้ใข Digital Divide และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

สำหรับการรอคอย กสทช. เพื่อให้มี 3G นั้น ประกอบด้วย 19 ขั้นตอนหลักๆตามกฎหมาย ซึ่งหากเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ จะสามารถเสร็จสิ้นได้ในปี 2555 หรือใช้ระยะเวลา 2 ปีเป็นอย่างเร็ว นี่หมายความว่า แต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างหามรุ่งหามค่ำ และไม่มีอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเป็นได้ยาก หากจำกันได้ การสรรหา กทช. และ กสช. ล้วนประสบปัญหาทั้งสิ้น และในกรณีของ กสช. 10 ปียังสรรหาไม่สำเร็จ และถูกฟ้องล้มไปสองครั้ง ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทย การได้ 3G จาก กสทช. ควรใช้เวลา 3-4 ปี เป็นอย่างน้อย ซึ่งเวลานั้นอาจจะเป็น 4G แล้ว

การที่ไม่มี 3G อาจไม่ได้ทำให้ประเทศถอยหลังหรือแย่ลง แต่เป็นการเสียโอกาสในการแก้ปัญหา Digital Divide และการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ดังจะเห็นได้จากตัวแทนของทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ เช่นสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งออกมาแสดงความเสียใจในการสูญเสียของประเทศ ทางออกของชาติในตอนนี้อยู่ในมือประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ที่จะสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้ กสทช. ลุล่วงไปได้โดยไร้อุปสรรค และให้แต่ละโครงการของภาครัฐที่ออกมาเยียวยา สามารถทำไปได้โดยประเทศชาติได้ผลประโยชน์มากที่สุด แทนที่จะอยู่ในมือของบางกลุ่มบางองค์กรที่ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

Published in Krungthepturakij on September 28, 2010