เปิดเสรีโทรคมนาคม เดิมพันความมั่นคงของชาติ
/เป็นมหกรรมระดับชาติ ประเทศไทยประกาศปิดเว็บไซต์ไปแล้วเกือบ 50,000 แห่ง จากการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายของประเทศ แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการจับกุมผู้กระทำผิดมิอาจทำได้จริง อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อโลกาภิวัตน์ ผู้เผยแพร่ข้อมูลสามารถมาจากทุกหนแห่ง การบังคับใช้กฎหมายมิอาจครอบคลุมได้ทุกท้องที่ในโลก ผู้กระทำผิดสามารถลอยนวลและกระทำผิดกฎหมายจากนอกราชอาณาจักรไทย อย่างที่เจ้าหน้าที่ไม่มีทางที่จะสาวถึงต้นตอ ในยุคนี้ประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็นเป้านิ่ง ที่ถูกจู่โจมอย่างไร้ทางตอบโต้ ผ่านระบบโทรคมนาคม ซึ่งเผยแพร่ได้ทั้ง ตัวหนังสือ เสียง ภาพ และวีดิโอ
ในยุคของ Social Media ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และอาจไม่รู้ตัว ทุกข้อความที่ Share บน Facebook ที่ Tweet บน Twitter หรือทุกบทวิจารณ์ที่เขียนไว้ในเว็บบอร์ดต่างๆ ล้วนเป็นการแพร่ข้อมูลทั้งสิ้น เว็บไซต์ 50,000 แห่งที่ถูกปิดไปอาจดูเหมือนมาก แต่ความจริงแล้วเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบสัดส่วนกับข้อมูลที่ถูกแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตในแต่ละวัน การต่อสู้ของภาครัฐจึงไม่ต่างกับการเข็นครกขึ้นภูเขา หากอำนาจในทางปฏิบัติมิอาจเข้าถึงจริง ผู้กระทำผิดย่อมสามารถจงใจกระทำต่อไปได้ และเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ด้วยจำนวนสมัครพรรคพวก และเทคโนโลยีที่เพิ่มความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเทศไทยไม่มีบริการหลักบนอินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเอง Google, Facebook, Twitter, Youtube ฯลฯ ล้วนเป็นของต่างชาติทั้งสิ้น ที่อาจไม่มีตัวตนอยู่ในประเทศ และอยู่ภายใต้กฎหมายไทย โดยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 กำกับดูแล หากผู้กระทำผิดโพสต์ข้อความอยู่บน Facebook ก็เป็นเรื่องราวระหว่างประเทศที่จะติดตามขอความร่วมมือในการสืบสวนพยานหลักฐาน
อย่างเช่นประวัติการใช้งาน IP Address และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ซึ่งผู้ให้บริการต่างชาติย่อมมีสิทธิจะปฏิเสธ หากนโยบายและกฎหมายระหว่างประเทศ มีข้อกำหนดที่ไม่ตรงกัน ผู้ให้บริการต่างชาติที่กล่าวมาแล้ว ล้วนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก หากเกิดข้อพิพาทจนเป็นกรณีถอนตัวจากประเทศ อย่างเช่นที่เคยเกิดในประเทศจีนแล้ว ย่อมมีผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะประเทศไทยไม่มีบริการของตัวเองมาแทนที่
เมื่อโยงไปถึงบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเช่น 3G ปัญหาที่กล่าวมาแล้วย่อมมีผลกระทบไร้วงจำกัด เพราะ 3G จะเป็นการขยายฐานผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกหลายเท่าตัวจากในปัจจุบัน และเป็นการเข้าถึงโดยไร้พื้นที่จำกัด อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อศึกษาการให้บริการโทรคมนาคมของมหาอำนาจอย่างอเมริกา จะเห็นได้ว่าธุรกิจมือถือวิทยุและโทรทัศน์ ยังคงเฝ้าระวังกำจัดสิทธิของการให้บริการของบริษัทต่างชาติ และให้ความสำคัญกับอำนาจการบริหารความมั่นคงของชาติเป็นหลัก โดยรัฐบาลสหรัฐ ได้คำนึงว่าบริการข่าวสารข้อมูลผ่านระบบโทรคมนาคมมีผลต่อความมั่นคงของชาติโดยตรง นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ อินเดีย ฯลฯ ล้วนมีข้อจำกัดในการเปิดเสรีโทรคมนาคมโดยต่างชาติด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน
ในขณะที่สื่อโลกาภิวัตน์ เช่นอินเทอร์เน็ต กำลังท้าทายกับอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดผ่านระบบโทรคมนาคม และในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมทางนโยบายระดับประเทศ ในการหาสิ่งทดแทน หรือสร้างมาตรการในการรองรับ เราพร้อมจะก้าวเดินต่อไปด้วยการเดิมพันกับความมั่นคงของชาติหรือ เพราะเหตุใดจึงไม่ศึกษาตัวอย่าง Best Practice ของมหาอำนาจเช่นสหรัฐ ก่อนจะส่งมอบปราการด่านสุดท้ายที่จะรักษาความมั่นคงของชาติผ่านระบบโทรคมนาคมเอาไว้ เพราะอย่างไรในปัจจุบันยังระบุให้เป็นของคนไทยอยู่
ปัญหาที่ได้เกิดขึ้นแล้วในโลกของอินเทอร์เน็ต ย่อมจะเกิดขึ้นกับโทรคมนาคมอย่างแน่นอน เพราะทั้งสองบริการได้ประจวบรวมกันจนเกือบแยกจากกันไม่ได้แล้ว หากแต่ความพร้อมในการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตยังไม่สมบูรณ์แบบ ภาครัฐควรศึกษาผลกระทบและนโยบายรองรับ ก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป
หากประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าและเป็นต้นแบบทางเทคโนโลยีอย่างสหรัฐ ยังไม่มั่นใจที่จะเปิดเสรีโทรคมนาคม เพราะอะไรประเทศไทยถึงต้องเสนอตัวเป็นหนูทดลองก่อน
Published in Krungthepturakij on August 17, 2010