3G แผ่นดินไหว สึนามิ และการเตือนภัยสาธารณะ

ระบบเตือนภัยสาธารณะ คือประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของ 3G 3GPP (The 3rd Generation Partnership Project) ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางเทคนิคของการให้บริการ 3G ได้กำหนด PWS (Public Warning System) ที่ครอบคลุมกรณีของแผ่นดินไหวและสึนามิ โดยเรียกว่า ETWS (Earthquake and Tsunami Warning System)

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ระบบนี้มักมิได้ถูกกล่าวถึงในบริบทของ 3G ขณะที่การแก้ไข Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในรูปแบบของ Internet ถูกมองเป็นจุดประสงค์หลัก การแก้ไข Digital Divide ย่อมมีความสำคัญ เพราะเป็นการลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ ที่สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของคนในประเทศ แต่การแจ้งเตือนภัยที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพย่อมสามารถช่วยรักษาชีวิตคนอย่างที่มิสามารถประมาณค่าได้

ในอดีตระบบสื่อสารมวลชนที่มีการครอบคลุมสูงสุดคงหนีไม่พ้นโทรทัศน์หรือวิทยุ แต่ในปัจจุบันการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือเป็นเกือบ 100% ของประชากรในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารแบบ Real Time ที่สามารถแจ้งเตือนภัยในรูปแบบของการ Push ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ใช้งานได้ตลอดเวลาและอย่างทันทีทันใด นอกจากนี้ยังสามารถจำกัดเฉพาะกลุ่มประชากรที่เข้าข่ายหรืออยู่ในพื้นที่อันตราย ในทางกลับกันโทรทัศน์หรือวิทยุจะมีประโยชน์ต่อเมื่อกำลังใช้งานและผู้ใช้ให้ความสนใจอยู่เท่านั้น จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าโทรศัพท์มือถือซึ่งสามารถรับการแจ้งเตือนภัยได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือมาเป็น Smartphone ประจวบกับแน้วโน้มการตลาด ซึ่งอีกไม่กี่ปี โทรศัพท์มือถือของกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะเปลี่ยนเป็น Smartphone ที่จะสามารถเพิ่มรูปแบบของการแจ้งเตือนภัย ด้วย ภาพ เสียง วีดีโอ และความเป็นอินเตอร์แอคทีฟ โดยจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก

ความด้อยโอกาสของประเทศในขณะนี้ คือการที่ 3G ยังไม่มีให้บริการอย่างทั่วถึงทุกพื่้นที่ในประเทศไทย ถึงแม้การเตือนภัยสาธารณะของ 3G ที่เรียกว่า PWS จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบสื่อสารมวลชนในอดีตที่ผ่านมา แต่การครอบคลุมที่ไม่ทั่วถึงกลับทำให้ระบบดังกล่าวไม่สามารถเป็นประโยชน์ได้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะแข่งขันกันทำ 3G อย่างทั่วประเทศหลังเกิดกรณีของ ทรู-ฮัทช์ ซึ่งเป็น Catalyst หรือตัวเร่งปฎิกิริยาให้เกิดการแข่งครั้งใหญ่โดยผู้ประกอบการทุกรายในประเทศอย่างไม่ต้องคอยการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่สำหรับ 3G โดย กสทช ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

นอกเหนือจากประโยชน์ของ PWS ระบบ 3G ยังสามารถเป็นโครงข่ายสำหรับการนำส่งข้อมูล (Data) เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ไวต่อการรับรู้ (Sensor) สำหรับตรวจจับการเกิดขึ้นของแผ่นดินไหว สึนามิ ไฟป่า มลพิษในอากาศ และภัยธรรมชาติอื่นๆ อุปกรณ์เหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้องมีการแพร่กระจายอยู่หลายพื้นที่ และมีความสามารถในการสื่อสารกับศูนย์ประมวลผลได้ตลอดเวลา เทคโนโลยีที่เหมาะสมจึงเป็นการนำส่ง Data อย่างไร้สายเช่นระบบ 3G

PWS และ ETWS เป็นข้อกำหนดทางเทคนิคของการให้บริการ 3G การนำระบบนี้มาใช้งานยังต้องอาศัยความร่วมมือในการสร้างศูนย์บัญชาการภัยพิบัติของภาครัฐและการลงทุนเชื่อมต่อระบบของผู้ให้บริการ แต่ถึงกระนั้นการเตือนภัยสาธารณะอาจถูกมองเป็นเรื่องรองเพราะบริบทหลักของ 3G ยังเป็นเป็นการแก้ไข Digital Divide อย่างไรก็ดี แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นโอกาสที่สังคมจะให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยสาธารณะของ 3G หรือกระทั่งระบบอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ เพื่อการเตรียมพร้อมที่ดีกว่าสำหรับเหตุการณ์ครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Published in Transport Journal in March 2011