CDMA และ 3G บนคลื่นเดิม ทางออกที่เพียงพอหรือ?

ศึกสายเลือดโทรคมนาคมวาระพิสดาร เมื่อรัฐฟ้องร้องกันเอง กับความไม่ชัดเจนของอำนาจรัฐหน่วยงานหนึ่ง และอุดมการณ์ของรัฐอีกหน่วยงานหนึ่ง ได้ผุดมากมาตรการหลายความคิดในการเยียวยา หากต้องคอย กสทช. 3-5 ปีจะมี 3G ได้จริงหรือ ฤๅจะล้มแบบ กสช. 10 ปียังตั้งไม่สำเร็จ คิดง่ายไปแน่นอน หากเชื่อว่าหน่วยงานดูแลผลประโยชน์กว่า 10% ของ GDP ที่วัดได้และที่วัดไม่ได้อีกมหาศาล จะไร้อุปสรรค ไม่เพียงแต่โทรคมนาคม แต่ สื่อ โทรทัศน์ วิทยุ ธุรกิจ Broadcasting จะกำกับดูแลโดย กสทช. ทั้งหมด เพราะแนวคิดเชิง Convergence ที่ว่าสื่อและโทรคมนาคมจะรวมร่างอย่างแยกไม่ได้อีกต่อไป หากไม่ถึงปีต้องเลือกตั้งใหม่ Political Will ในครานี้จะสืบเนื่องต่อไปหรือไม่ คำตอบจะเป็นเช่นไรผู้รับเคราะห์ย่อมเป็นคนไทยอย่างแน่นอน

นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติเป็นสิ่งที่ไทยควรจะมีนานแล้ว เว้นแต่จะมี 3G โดย กทช. อาจเป็นโครงการแรกที่แก้ปัญหา Digital Divide สำเร็จ อย่างไรก็ดี เป็นการอนุมัติเชิงนโยบาย อีกหลายขั้นตอนก่อนจะปฏิบัติได้ และรายละเอียดยังไม่ชัด ที่เห็นผลในเร็ววัน คือ โครงข่าย CDMA ของ Hutch และการทำ 3G บนคลื่นเดิม ปัญหาของสองกรณีอาจไม่ใช่ Technology หรือข้อกฎหมาย แต่เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เรียกว่า Network Effect ความสำเร็จของโครงข่าย?ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์รองรับ ?(End-User Devices) ผู้ให้บริการจะลงทุนโครงข่ายเพียงใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนมือถือในมือผู้ใช้กว่า 60 ล้าน และกำหนดทิศทางตลาดของผู้ผลิตมือถือในปัจจุบันและอนาคตได้

อุปสรรคของ CDMA คือ ทางเลือกของอุปกรณ์ จากผู้ใช้มือถือ 5 พันล้านบาท เพียง 10-15% ใช้ CDMA ในไทยมีอยู่ราวล้านคน น้อยกว่า GSM รายใหญ่ 30 เท่า CDMA เป็นตลาดรองสำหรับ Innovator ด้านมือถือโดยเฉพาะผู้นำอย่างเช่น Apple ซึ่งมี iPhone และ iPad อยู่ในมือ ผู้ผลิตรายอื่นๆ ล้วนให้ความสำคัญกับ GSM ก่อนจะรองรับ CDMA เป็นตลาดรอง ทางเลือกในอุปกรณ์สำคัญสำหรับ 3G เพราะ Key Differentor คือ การใช้ Data นอกจากนี้ ผู้ใช้ GSM เดิมต้องทิ้งอุปกรณ์เพื่อซื้อใหม่เป็น CDMA

ถึงจะเป็น GSM การทำ 3G บนคลื่นเดิมในกรณีของ CAT ก็มีอุปสรรค เพราะเป็น 850Mhz มิใช่คลื่นหลักของ 3G เคราะห์ดีที่ iPhone และ iPad เป็น Quad Band และรองรับ 850Mhz ตั้งแต่รุ่นแรก แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์ส่วนใหญ่เลือกรับรอง 2.1Ghz ก่อนที่จะสนับสนุนคลื่นอื่น Android หลายรุ่นรวมถึง Google Nexus One, Motorola Milestone (Droid) และอีกหลายรุ่นของ HTC ก็ไม่รองรับ 850Mhz ในระยะแรกเว้นแต่สั่งพิเศษ และเพิ่ม Cost of Entry ให้กับลูกค้า

กรณีของ TOT อาจไม่มีปัญหาที่กล่าวมา เพราะเป็น 2.1Ghz ซึ่งเป็นคลื่นหลักของ 3G แต่ต้องจับตาดูความสามารถของหน่วยงานรัฐในการร่วมมือกับเอกชน และป้องกันความเหลื่อมล้ำ และผูกขาด 3G ของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ที่สำคัญ ต้องไม่สวนเจตนารมณ์ของการจัดตั้ง กสทช.

ในขณะที่รัฐวิสาหกิจประเทศอื่นพลิกผันเป็นผู้ประกอบการระดับชาติและระดับโลก ทั้งยังมาลงทุนในประเทศไทย ต้องจับตาดูการดิ้นรนของรัฐวิสาหกิจแบบไทยๆ แนวคิด CDMA และ 3G บนคลื่นเดิมมิเพียงเป็นทางออกระหว่างรอคอย กสทช. แต่ยังผูกพันกับการอยู่รอดของหน่วยงานรัฐ และยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจว่าจะทำให้คนไทยต้องผิดหวังอีกต่อไปหรือไม่

Published in Krungthepturakij on October 19, 2010