บริษัทไทยในอุตสาหกรรม ICT คนไทยก็เคยพิชิต Silicon Valley
/มีความพยายามอย่างต่อเนื่องโดยผู้รักษาผลประโยชน์แทนกลุ่มทุนต่างชาติ ในรูปแบบของนักวิชาการและองค์กรอิสระ เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดเสรีอุตสาหกรรม ICT และสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติสามารถประกอบกิจการในประเทศไทยได้ทัดเทียมบริษัทไทย ในแง่มุมผู้บริโภคอาจเป็นผลดี หากบริษัทต่างชาติให้บริการได้ดีกว่าจริง และไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาความมั่นคง และเป็นโจทย์ของรัฐศาสตร์มากกว่าเศรษฐศาสตร์ แต่ในแง่มุมของผู้ประกอบการ หรือกระทั่งลูกจ้างผู้ประกอบอาชีพ ไม่ต่างกับการถูกล่าอาณานิคม หรือถูกแย่งชิงพรมแดนทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ทำมาหากิน
ในฐานะที่เป็นคนไทย เราเป็นทั้งผู้บริโภค และผู้หาเลี้ยงชีพบนผืนแผ่นดินของเราเอง เรื่องนี้จึงไม่ใช่โจทย์ทางเดียว อย่างที่นักวิชาการหรือองค์กรอิสระพยายามจะเบี่ยงประเด็น
ปัจจุบันอุตสาหกรรม ICT ของไทยอยู่ในสถานะที่ผู้ประกอบการไทยอ่อนแอ เพื่อนบ้านล้วนมีผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นและสามารถขยายฐานการตลาดและการลงทุนไปในระดับภูมิภาค ทวีป หรือโลก และกระทั่งมาซื้อกิจการของไทยในหลายๆ Segment ตั้งแต่ธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ จนกระทั่ง เว็บไซต์ ความเป็นมหาทุนระดับโลกของธุรกิจข้ามชาติย่อมมี Economy of Scale ที่สร้างประโยชน์ใน Efficiency จนเป็น Strategic Advantage ที่ธุรกิจท้องถิ่นไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยความเสมอภาค และสามารถเอาเปรียบในด้าน ราคา ทุนทรัพย์ และ Cashflow จน Drive ให้ธุรกิจท้องถิ่นต้องล้มเลิกกิจการ และสามารถเข้าครอบงำอุตสาหกรรม ICT ของประเทศได้อย่างบริบูรณ์
ประเทศไทยเกือบจะเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่มีผู้ประกอบการ ICT ที่ออกไปแข่งขันในระดับภูมิภาค เป็นไปได้ว่าอนาคตของคนไทยที่ประกอบอาชีพ ICT จะต้องมีนายจ้างและผู้บริหารเป็นคนต่างชาติในประเทศของตัวเอง แล้วความภูมิใจของการเป็นคนไทยจะอยู่ที่ไหน
สำหรับคนไทยที่เคยไปทำงานต่างประเทศมาแล้ว คำว่า Glass Ceiling ควรจะคุ้นเคยดีสำหรับข้อจำกัดของความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพสำหรับคนที่ไม่ใช่ฝรั่งแต่ไปทำงานในประเทศของฝรั่ง ใครจะเคยคิดว่าคนไทยจะต้องมาพบกับ Glass Ceiling ในประเทศของตัวเอง
ถึงปัจจุบันจะเป็นเช่นนี้ ในอดีตเคยมีผู้ประกอบการไทยที่ได้เป็นผู้เล่นในระดับโลก เป็นเรื่องราวจาก 30 ปีที่แล้ว คุณ Van Suwannukul นักเรียนทุนในหลวง คนไทยแท้ๆ จากศรีราชา เคยไปโด่งดังที่ Silicon Valley โดยการสร้างธุรกิจการ์ดจอ Hercules ระหว่างที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐ เนื่องจากการ์ดจอในสมัยนั้นไม่ละเอียดพอที่จะใช้ Function ทางธุรกิจได้ หลายๆ คนอาจจำกันได้ในรูปแบบของจอเขียวดำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย Hercules ได้ตอบโจทย์ในด้านของเทคโนโลยีและการตลาด จนได้ประสบความสำเร็จอยู่ในตลาดโลกได้ร่วมทศวรรษ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นยุคของผู้เล่นปัจจุบันเช่น ATI และ nVIDIA
ถึงเรื่องราวของ Hercules จะเป็นเพียงอดีต แต่คุณ Van ก็เป็นตัวอย่างของคนไทยที่เคยไปพิชิต Silicon Valley มาแล้ว แสดงให้เห็นว่าคนไทยแท้ๆ ก็มีความสามารถที่จะเขย่าโลกในวงการ ICT ได้เช่นกัน และแสดงให้เห็นในสิ่งที่คนไทยคนหนึ่งสามารถทำได้ โดยไม่มีการสนับสนุนจากโดยภาครัฐและสังคมเลย
ธุรกิจ ICT ของประเทศยังมีความสำคัญในการสร้างภาพพจน์หรือสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ ทุกครั้งที่ได้เจอนักธุรกิจจากเพื่อนบ้านเช่นเกาหลี ถึงเขาจะไม่ได้อยู่ Samsung หรือ LG มักอดไม่ได้ที่จะยกตัวอย่างเพื่ออ้างถึง
ทั้งนี้อาจไม่ถึงกับเป็นเรื่องของชาตินิยม แต่เป็นความภูมิใจที่จะมีส่วนร่วมกับภาพพจน์หรือแบรนด์ของประเทศ จะมีโอกาสอีกไหมที่ธุรกิจ ICT ของไทยจะ Reinvent ตัวเอง เจริญรอยตามคุณ Van และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ทั้งนี้คงต้องการความช่วยเหลือจากนโยบายของภาครัฐและเสียงสนับสนุนจากประชาชนคนไทยด้วยกันเอง
Published in Krungthepturakij on October 5, 2010