ประเทศไทยตลาดใหม่ของ Facebook
/หนึ่งปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงของโลกไอซีทีไม่ต่างกับมหากาพย์ มีเรื่องราวที่ตื่นเต้น และชวนให้หวาดเสียวเกือบทุกเดือน แต่ที่ปรากฏในหน้าสื่อมักเป็นวาระของผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจปกครองประเทศ หรือผู้บริหารระดับ CEO ขึ้นไป ตั้งแต่ เรื่องของ 3 G จนถึงนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และกระทั่งการเปิดตัว iPhone 4 ซึ่งแต่ละกรณีมีมูลค่ามหาศาล ตั้งแต่พันล้าน ถึงหมื่นล้านขึ้นไป เรื่องของเด็กๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่อาจประมาณค่าได้ยากกว่า และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบัน กลับได้ตกสำรวจ และอยู่ในเบื้องหลังของความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา
ในช่วงเวลา 12 เดือน จำนวนผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทย ได้ขยายตัว 320% และเป็นอัตราการขยายตัวอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้ Facebook เกือบ 6 ล้านคน และจะแซง Hi5 ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (ข้อมูลจาก Inside Facebook) สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมของ Facebook กับตลาดประเทศไทยเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ของ Facebook คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย ในปัจจุบันมีการเข้าถึงบรอดแบนด์เพียง 10% หรือ 6.7 ล้านคน
ในแง่ดี เกือบ 100% ของคนไทยที่ใช้บรอดแบนด์ล้วนเป็นลูกค้า Facebook แต่ในแง่ลบ Facebook จะขยายตัวเกินผู้เข้าถึงบรอดแบนด์ได้หรือไม่ เพราะการเข้าถึงบรอดแบนด์ในประเทศแทบไม่ได้ขยายตัวเลยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เนื่องจากโครงการของผู้ใหญ่ที่ต้องล้มหรือชะลอตัวไป จะเป็นไปได้ไหมว่าการขยายตัวต่อจากนี้ไปของ Facebook ยังคงต้องคอยไปก่อน
ความสำเร็จของ Facebook ในประเทศไทย คงไม่ต่างกับความสำเร็จของ Google ในยุคปัจจุบัน หรือกระทั่ง Hi5 ในยุคก่อนหน้า และขึ้นอยู่กับค่านิยมของผู้บริโภคคนไทยเป็นปัจจัยสำคัญ ความสำเร็จของบริการเหล่านี้ในประเทศไทยต้องยกให้เป็นกรณีเฉพาะตัว เพราะในประเทศอื่นๆ ของเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือกระทั่ง เวียดนาม บริการออนไลน์ของต่างประเทศมิเคยเหยียบย่ำตลาดท้องถิ่นได้สำเร็จ โดยจะมีบริการของคนชาตินั้นๆ ครองตลาดอยู่แล้ว ชนิดที่ว่า Google หรือ Facebook ไม่สามารถไปกระทบไหล่ หรือเหยียบย่ำได้
ในประเทศเล็กๆ อย่างเวียดนาม รัฐบาลได้สร้าง Social Network ชื่อว่า go.vn ขึ้นมาเพื่อลดอิทธิพลของ Facebook ที่มีต่อสังคมออนไลน์ของคนในประเทศ
สำหรับคนที่รู้จริงแล้ว ไม่มีข้อสงสัยว่าบริการอย่าง Google หรือ Facebook มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของโลกออนไลน์ หรือกระทั่งความรุ่งเรืองและดับสูญของธุรกิจ อย่างที่ภาครัฐ หรือกระทั่งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไม่มีกลไกควบคุม ในกรณีของค่าเงินบาทยังมีกลไกของแบงก์ชาติ แต่การให้บริการออนไลน์นั้นเป็นโลกเสรีที่ขึ้นอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ปัจจุบันนี้อาจยังไม่สำคัญ แต่วันหนึ่งที่ประเทศเจริญแล้วจะเป็นส่วนสำคัญของ GDP และการใช้ชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในอนาคต
การขยายตัวของ Facebook แม้จะเป็นโอกาสของหลายๆ คนในประเทศ โดยเฉพาะนักการตลาดรุ่นใหม่ แต่ที่สำคัญ อาจเป็นการ Canibalize ธุรกิจของผู้ให้บริการเว็บไซต์เจ้าถิ่นรายเดิมๆ ของประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบด้วย Scale ยากจะทัดทานกระแส ซึ่งคงต้องล้มหายตายจากหรือผันกิจการเพื่อหลีกเลี่ยงและปรับตัวให้เข้ากับ Facebook โดยอาจมีความสำคัญเท่าๆ กับการทำ SEO ในยุคก่อนเลย
อย่างไรก็ดี สำหรับนักการตลาดรุ่นใหญ่ คงยังมองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ เพราะอย่างไรก็ไม่ถึง 10% ของประชากรประเทศไทย
Published in Krungthepturakij on November 2, 2010