คลาวด์คอมพิวติงแห่งยุคสตาร์ทอัพ
/ได้กลับมาพัฒนาแอปพลิเคชันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ห่างเหินไป 2 - 3 ปี
สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือรูปแบบใหม่ของการพัฒนาแอปพลิเคชันด้วยการใช้คลาวด์คอมพิวติง ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเดิมของคลาวด์คอมพิวติงที่อาจคุ้นเคยกันจากไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แต่เป็นรูปแบบใหม่ที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพมากที่สุดในยุคปัจจุบัน
ต้องเท้าความก่อน
คลาวด์คอมพิวติงในรูปแบบเดิมเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเซอร์เวอร์ของตัวเอง หรือหากเป็นธุรกิจก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีดาต้าเซ็นเตอร์เป็นของตัวเอง
เพราะสามารถเช่าใช้บริการจากผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติง
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่ธุรกิจจะต้องซื้ออุปกรณ์เซอร์เวอร์ของตัวเอง 10 เครื่อง ธุรกิจสามารถที่จะเช่าเซอร์เวอร์จำนวนนี้อยู่ในคลาวด์คอมพิวติ้งและยังสามารถปรับลดหรือเพิ่มจำนวนได้เป็นรายวินาทีโดยจ่ายเงินเฉพาะจำนวนเครื่องเซอร์เวอร์ที่ต้องใช้งานจริงอย่างเรียลไทม์
เพราะหากต้องซื้อเซอร์เวอร์ของตัวเอง 10 เครื่อง ก็จะมีสภาพเป็นต้นทุนจม ที่อาจไม่ได้มีการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 100% อย่างต่อเนื่อง คลาวด์คอมพิวติงจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ธุรกิจไม่ต้องเป็นห่วงเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติงทั้งหมด ธุรกิจจึงสามารถมุ่งเน้นทรัพยากรไปที่การพัฒนาทีมวิศวกรทางซอฟท์แวร์
แต่นั่นเป็นเรื่องราวของอดีตกาล ในปัจจุบันคลาวด์คอมพิวติงได้ก้าวพ้นรูปแบบนั้นมาแล้ว
ล่าสุดได้มีบริการ Lambda ของ Amazon และยังมีบริการ Azure Functions ของ Microsoft บริการ Cloud Functions ของ Google หรือกระทั่ง OpenWhisk ของ IBM ซึ่งเป็นก้าวต่อไปของคลาวด์คอมพิวติงแห่งยุคสตาร์ทอัพ
คลาวด์คอมพิวติงในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การเช่าใช้เครื่องเซอร์เวอร์ที่อยู่บนคลาวด์อีกต่อไปแต่เป็นการเช่าใช้อัตราการคำนวนของคอมพิวเตอร์ (CPU Time) คือจะใช้คอมพิวเตอร์คำนวนเท่าไหรก็จ่ายเท่านั้น ไม่ต้องมานับว่าใช้กี่เครื่อง
ยกตัวอย่างเช่นหนึ่งฟังชั่นของธุรกิจอาจใช้เวลาคำนวน 15 วินาที ธุรกิจก็จ่ายเงินเท่านั้นจริงและไม่ต้องเป็นห่วงว่าผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติงจะใช้เซอร์เวอร์กี่เครื่องในการคำนวน หรือแต่ละเครื่องจะใช้ซอฟท์แวร์อะไรและหรือต้องมีการเมนเทนแนนซ์อย่างไร
สิ่งที่ธุรกิจต้องบริหารจัดการเหลือเพียงการพัฒนาฟังชั่นเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาแต่ละแอปลิเคชั่นสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพอาจประกอบไปด้วย 20-100 ฟังชัน
รูปแบบใหม่ของคลาวด์คอมพิวติงในครั้งนี้มีความเหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการความคล่องตัว เพราะการที่ไม่ต้องบริหารจัดการเซอร์เวอร์ทำให้ธุรกิจสามารถมุ่งเน้นทรัพยากรในการพัฒนาทีมวิศวกรทางซอฟท์แวร์ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือโปรแกรมเมอร์ ส่วน วิศวกรทางซอฟท์แวร์อื่นๆ เช่น ผู้บริหารจัดการระบบต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงฐานข้อมูลจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ธุรกิจสามารถเหลือวิศวกรเพียงประเภทเดียว นั่นก็คือโปรแกรมเมอร์ ที่สามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชันให้มีศักยภาพสูงสุด
อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของคลาวด์คอมพิวติงในครั้งนี้ คงต้องสร้างปัญหาไม่น้อย กับผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติงที่ยังคงอยู่ในยุคเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีสำหรับให้บริการ ในรูปแบบของ Amazon Lambda และจากคู่แข่งอื่นๆ ล้วนเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ยังไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ในขณะนี้
นอกจากนี้ ยังเป็นกรณีของ Vendor Lock In เพราะหากธุรกิจเริ่มต้นใช้ Amazon Lambda การที่จะย้ายไปใช้คลาวด์คอมพิวติงของผู้อื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นงานหนักของโปรแกรมเมอร์ ที่ต้องพัฒนาใหม่เพื่อไปใช้บริการของรายอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น คลาวด์คอมพิวติง ที่สามารถให้บริการในรูปแบบนี้ได้ ยังไม่มีให้บริการในประเทศไทย โดยสิงคโปร์ เป็นศูนย์ให้บริการที่ใกล้เคียงที่สุดสำหรับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหาก ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสตาร์ทอัพ เปลี่ยนมาใช้ คลาวด์คอมพิวติงยุคใหม่หมด ก็จะเป็นการย้ายฐานออกจากประเทศ และเป็นการยากยิ่งที่ไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
คลาวด์คอมพิวติงแห่งยุคสตาร์ทอัพ เป็นปรากฎการณ์ที่หลายคนรอคอยมานาน และเป็นก้าวเดินก้าวต่อไปที่สำคัญสำหรับโลกเทคโนโลยี
Published in Krungthepturakij on September 27, 2016