อินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จำเป็นหรือไม่?

หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้เคยกล่าวถึง กรณีที่ เวิร์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economics Forum) ได้จัดทำรายงาน เน็ตเวิร์ค เรดิเนส อินเด็กซ์ (Network Readiness Index) 2016 ซึ่งประเทศไทย ได้ถูกยกขึ้นมาราว 20 อันดับ จากปี 2015 ในมิติที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของภาครัฐ โดยเป็นการสะท้อนว่า ต่างชาติให้การยอมรับ ถึงพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

แต่สิ่งหนึ่ง ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง นั่นก็คือ การที่ประเทศไทย ได้ถูกลดอันดับจากที่ 1 ในปี 2015 สู่ อันดับที่ 97 ของโลก ในปี 2016 ในด้านการครอบคลุมของสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า การครอบคลุมของสัญญาณโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ได้มีการลดลง แต่กลับหมายความว่า การครอบคลุมของต่างประเทศ ได้มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา 

คงปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างย่ิง สมาร์ทโฟน เป็นเทคโนโลยีอันดับหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตได้

ในปัจจุบัน ประชากรไทยกว่า 38 ล้านคน หรือคิดเป็น 56 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งส่วนมากในจำนวนนี้ คือผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า 56 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นสัดส่วนที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของประชากร และถึงแม้ว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะสามารถครอบคลุมได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ โดยไม่ต้องอาศัยมาตรการการพิเศษจากภาครัฐ

ที่ผ่านมา การขยายตัวของการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย อยู่ในบริบทของภาคเอกชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายเช่น WiFi 3G หรือ 4G และ การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย เช่น DSL Cable Fiber ฯลฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย จำเป็นต้องหาจุดคุ้มทุนของธุรกิจภาคเอกชน ในการเลือกพื้นที่ให้บริการ

ทั้งนี้ การให้บริการในเขตเมือง มักจะไม่มีปัญหาในการคุ้มทุนสำหรับภาคเอกชน แต่การให้บริการในเขตชนบทที่ห่างไกล มักจะมีปัญหาและยากที่จะให้บริการอย่างไม่ขาดทุน

แม้กระทั่งในการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ชนะการประมูล 3G ต้องให้บริการที่ครอบคลุมประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการให้บริการครอบคลุมอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้บริการอย่างไม่ขาดทุน

และที่สำคัญ การครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร มีความแตกต่างกับการครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เพราะประชากรเป็นจำนวนมากได้ย้ายเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะครอบคลุมถึง 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย

จึงเป็นที่มาว่า การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากร จำเป็นต้องอาศัยมาตรการการพิเศษจากภาครัฐ

ซึ่งรูปแบบที่ได้รับการยอมรับ และมีการร้องขอ จากภาคอุตสาหกรรม คือการที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุน จัดทำโครงสร้างพื้นฐานในระดับ Backbone เพื่อเข้าสู่หมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกล โดยเป็นโครงข่ายของภาครัฐ และให้ภาคเอกชนมาลงทุนเพื่อต่อยอดการให้บริการที่ปลายทาง ในรูปแบบของ WiFi 3G 4G DSL ฯลฯ ตามความเหมาะสมของผู้ใช้บริการ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดเทคโนโลยี

การลงทุนของภาคเอกชน เป็นการขยายผลต่อยอดจากการลงทุนของภาครัฐ ทำให้ผลสำเร็จไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงงบประมาณการลงทุนไม่กี่หมื่นล้านบาทของภาครัฐเท่านั้น

และยังเป็นการลดต้นทุนจากการดำเนินการที่ซ้ำซ้อน และสามารถวางแผนโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ ที่สามารถพัฒนาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนหน้านี้ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ในวันนี้ประชากรส่วนน้อยกลับไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นผู้ที่เสียโอกาสทางดิจิทัล ที่นับวันจะทวีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งขึ้นไปอีก

อินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จึงมีความจำเป็น และต้องอาศัยมาตรการการพิเศษจากภาครัฐ จึงจะครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยได้

Published in Krungthepturakij on September 13, 2016