Digital Economy กับความมั่นคงของชาติ บทเรียนสำคัญจากเกาหลีเหนือ
/หลายท่านอาจมิได้ติดตามข่าวที่ว่านี้ ทว่า ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันขึ้นปีใหม่2015 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญระดับโลก ที่สำแดงให้เห็นถึงภาวะแห่งดุลอำนาจระหว่างประเทศในแห่งโลกอินเทอร์เน็ตอันไร้พรมแดน เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2014 อินเทอร์เน็ตแห่งชาติเกาหลีเหนือ ได้ถูกโจมตีโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย (Hackers) ซึ่งทำให้ชาวเกาหลีเหนือที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศไม่สามารถที่จะติดต่อกับโลกภายนอกผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และต้องใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมง จนกระทั่งวันที่ 23 ธันวาคม จึงจะสามารถกอบกู้สถานการณ์ได้สำเร็จ
เหตุการณ์ดังกล่าว อาจแลดูเป็นเรื่องราวสถานเบา เพราะน้อยคนในเกาหลีเหนือ เป็นผู้ที่มีโอกาสที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การ Hack อินเทอร์เน็ตแห่งชาติเกาหลีเหนือ จึงมีผลน้อยมากในเชิงปฏิบัติ แต่อาจเป็นการหวังผลด้วยเหตุทางการเมือง หรือเป็นการสาธิตพลังอำนาจระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในครั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกแล้ว กลับสะท้อนถึงบทเรียนและข้อคิดบางประการ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และสามารถเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้อย่างน่าเป็นห่วง
อินเทอร์เน็ต มีรากฐานแห่งเทคโนโลยีมาจาก ARPANET ซึ่งเป็นโครงการของ U.S. Department of Defense (กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐ) ARPANET ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อ 1969 เพื่อเป็นอภิมหาโครงข่ายแห่งความมั่นคง ที่จะต้องยืนหยัดอยู่ได้ แม้บางส่วนจะถูกทำลายไปในภาวะแห่งสงคราม องค์ประกอบของโครงข่ายที่ต้องแตกแยกจากกันและไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ ยังคงที่จะต้องทำงานต่อไปได้อย่างเป็นเอกเทศ
บทเรียนที่สำคัญจากเกาหลีเหนือ คือถึงแม้ว่า การโจมตีจากกลุ่ม Hackers จะทำให้อินเทอร์เน็ตแห่งชาติจะต้องขาดการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ตแห่งโลกภายนอก แต่อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ ย่อมต้องสามารถใช้งานสืบต่อไปได้ แม้แต่ในช่วงเวลา 9 ชั่วโมง ที่ขาดการเชื่อมต่อก็ตาม แต่ปัญหาของเกาหลีเหนือ คือ Digital Economy ที่มีขนาดน้อยนิด และมีเพียงไม่กี่ร้อยเว็บไซต์ ที่ให้บริการจากภายในประเทศ การขาดการติดต่อกับโลกภายนอก ย่อมหมายความว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเกาหลีเหนือ จะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะบริการของเว็บไซต์ภายในประเทศเท่านั้น การจู่โจมดังกล่าว เมื่อเป้าหมายเป็นประเทศเกาหลีเหนือ ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเกาหลีเหนือมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อออกนอกประเทศน้อยมาก แต่อย่าคิดเป็นอันขาดว่าเรื่องราวนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับประเทศไทย
ประเทศไทย มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายหลังการประมูล 3G เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ประจวบกับพัฒนาการของเทคโนโลยี Smartphones นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีเว็บไซต์ ที่ให้บริการจากภายในประเทศเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นภาพลวงตา ว่า Digital Economy ของไทย กำลังก้าวไปสู่ความแข็งแกร่ง
ถึงแม้เว็บไซต์เป็นจำนวนมาก จะให้บริการจากภายในประเทศ แต่ยังคงมีบริการหลักแห่งโลกอินเทอร์เน็ต ได้แก่ Search Engines, Emails, Social Networks, Social Medias, Chats ฯลฯ ที่ยังผูกขาดโดยธุรกิจข้ามชาติ ผู้ซึ่งให้บริการเข้ามาในประเทศไทยผ่านโลกอินเทอร์เน็ตอันไร้พรมแดน โดยที่ Servers หลักของธุรกิจเหล่านี้ยังคงอยู่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ บริการหลักที่ได้กล่าวถึง เป็นบริการที่ต้องมีทั้งเทคโนโลยี และ Economy of Scale จนเกิดเป็นข้อได้เปรียบเฉพาะตัว และเว็บไซต์ต่างๆ ภายในประเทศ ย่อมไม่สามารถสร้างบริการขึ้นมาทดแทนหรือแข่งขัน บริการหลักดังกล่าว ย่อมเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของ Digital Economy ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โครงข่ายที่สามารถจับต้องได้ (Hard Infrastructures) แต่เป็นโครงข่ายในเชิงซอฟต์แวร์ (Soft Infrastructures) ที่จับต้องไม่ได้ แต่มีผลชี้เป็นชี้ตายกับทุกธุรกิจ ที่ต้องมาอาศัยอยู่ในโลกแห่ง Digital Economy และมีผลชี้นำผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
อะไรจะเกิดขึ้นกับเว็บไซต์เป็นจำนวนมากในโลกแห่ง Digital Economy ของไทย เมื่อ Search Engines, Emails, Social Networks, Social Medias, Chats ฯลฯ จากประเทศสหรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเกิดเป็นเภทภัยต่อความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการใช้งานของบริการหลักที่ได้กล่าวถึง ได้ถูกหล่อหลอมมาเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของผู้ใช้งาน Digital Economy ทุกคน ในประเทศแห่งนี้ อย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายอีกต่อไปแล้ว
สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์เฉกเช่นเกาหลีเหนือ ไม่จำเป็นต้องอาศัยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แต่เพียงแค่อาศัยผู้ให้บริการหลักแห่งโลกอินเทอร์เน็ตเพียงไม่กี่ราย (อย่างเช่นจากในสหรัฐ) พร้อมกันระงับการให้บริการเข้ามาในประเทศไทย (ด้วยสาเหตุที่อธิบายได้ด้วยเหตุและผล หรือที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย) Digital Economy ของไทย ก็จะไม่ต่างกับ 9 ชั่วโมงที่ถูกระงับของเกาหลีเหนือ ยังแต่จะส่งผลที่ร้ายแรงกว่า เพราะต้องส่งผลกระทบสู่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร
ประเทศไทย เป็นตัวอย่างของเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชีย ที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นสัดสวนที่สูงมากของประชากร แต่กลับไม่มีบริการหลัก เช่น Search Engines, Emails, Social Networks, Social Medias, Chats ฯลฯ เป็นของตัวเอง นั่นก็คือมีแต่ Hard Infrastructures แต่กลับต้องยืม Soft Infrastructures ของชาติอื่นหายใจ ดังจะเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ เมื่อผู้ให้บริการ Soft Infrastructures ข้ามชาติเหล่านี้ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและตำรวจของไทยในการดำเนินการด้านต่างๆ
สำหรับผู้อ่านที่ให้ความสนใจกับกรณีของ Big Data และ Analytics ย่อมจะรู้ดีว่า Soft Infrastructures นั่นเอง คือคลังแห่งข้อมูลเกือบทั้งหมด ที่พึงจะได้มาจากเทคโนโลยีชั้นสูงแห่ง Big Data จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากต่างชาติ ผู้ที่เป็นเจ้าของ Soft Infrastructures ที่ได้กล่าวถึง จะสามารถรู้ลึกถึงความเป็นไปทั้งหมดของประชากรไทย ที่เข้าสู่ Digital Economy มากยิ่งกว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานทั้งหมดภายในประเทศจะสามารถหยั่งรู้ได้
Digital Economy เป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่ควรเฝ้าระวัง อย่าฝากความมั่นคงของชาติให้ต่างชาติบริหารครับ
Published in Krungthepturakij on January 6, 2015