เฟซบุ๊ค ซื้อ วอทส์แอพพ์ แต่ยังไม่ใช่ผู้ชนะ

วอทส์แอพพ์ อาจเป็นแอพพลิเคชั่นแรก ที่ทำให้คนไทยหลายคน ได้รู้จักถึง บริการในรูปแบบของเมสเซ็นเจอร์ ที่สามารถพูดคุยข้ามโครงข่าย และยี่ห้อของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหลายปีก่อนหน้านี้ มีบริการ บีบีเมสเซ็นเจอร์ ของ แบล็คเบอร์รี่ ที่เป็นบริการในรูปแบบที่คล้ายกัน แต่สามารถพูดคุยได้เฉพาะกับโทรศัพท์มือถือของแบล็คเบอร์รี่เท่านั้น สำหรับประเทศไทย แอพพลิเคชั่นในรูปแบบของเมสเซ็นเจอร์ ได้เป็นที่นิยมมาตลอด จนกระทั่งมีการพูดคุยว่า ยุคที่แข็งแกร่งที่สุดของ แบล็คเบอร์รี่ ในประเทศไทย เป็นผลจากความนิยมใน บีบีเมสเซ็นเจอร์ และเมื่อผู้ใช้งาน ได้เปลี่ยนมาใช้ วอทส์แอพพ์ ก็ได้ส่งผลสู่ยุคเสื่อมถอยของแบล็คเบอร์รี่ ในวงการเทคโนโลยีและโทรคมนาคม แอพพลิเคชั่นในรูปแบบของเมสเซ็นเจอร์ ถูกเรียกรวมว่า โอเวอร์เดอะท็อป หรือ โอทีที ซึ่งเป็นบริการที่ได้ประยุกต์ใช้ โมไบล์แอพพ์ บน สมาร์ทโฟน กับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ในการให้บริการที่ไม่เพียงแต่จะสามารถทดแทนบริการพื้นฐานของโทรคมนาคม อย่างเช่น เอสเอ็มเอส และการพูดคุยด้วยเสียง แต่ยังสามารถให้บริการในรูปแบบที่เหนือกว่าบริการพื้นฐานของโทรคมนาคม ความโดดเด่นของ โอทีที คือการที่ วอทส์แอพพ์ ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคมของตัวเอง แต่สามารถให้บริการผ่านทุกโครงข่ายและยี่ห้อของโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย วอทส์แอพพ์ ก็มิใช่ โอทีที ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายแต่เพียงแอพพลิเคชั่นเดียวอีกต่อไป ในปัจจุบัน ได้มี ไลน์ ของเกาหลี และ วีแช็ต ของ จีน ที่ได้รับความนิยม และอาจได้เข้ามาทดแทน วอทส์แอพพ์ ในบางกลุ่มเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไลน์ ได้ประกาศจำนวนผู้ใช้ กว่า 30 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่า จำนวนผู้ใช้ที่ 26 ล้านคน ในประเทศไทย ที่เฟซบุ๊คเคยประกาศ จนมีการพูดคุยกันว่า วอทส์แอพพ์ ได้สูญเสียตลาดของประเทศไทยไปแล้ว

แต่ถึงกระนั้น ตลาดของประเทศไทย ย่อมเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของมูลค่า 6 แสนล้านบาท ที่ เฟซบุ๊ค ได้ซื้อ วอทส์แอพพ์ ไป ในปัจจุบัน วอทส์แอพพ์ ยังคงเป็น โอทีทีแมสเซ็นเจอร์ ที่มีการใช้งานสูงสุดในโลก โดยมีผู้ใช้งาน 450 ล้านคน ในขณะที่ ไลน์ มีผู้ใช้งาน 360 ล้านคน และ วีแช็ต มีผู้ใช้งาน 272 ล้านคน ซึ่งการเติบโตของ แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ ก็ได้ส่วนกระแสกับการเติบโตของ เฟซบุ๊ค ซึ่งอาจได้ชะลอตัวและลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่น หรือที่อายุน้อยกว่า ซึ่งได้ลดความสนใจที่จะใช้งาน เฟซบุ๊ค อย่างมีนัยสำคัญ จนมีการคาดคะเนว่า เฟซบุ๊ค อาจเหลือผู้ใช้งานเพียง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า

ดังนั้น การที่ เฟซบุ๊ค ได้เข้าซื้อ กิจการ ของ วอทส์แอพพ์ จึงเป็นการต่ออายุ กิจการของ เฟซบุ๊ค ด้วยฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ยังมีความสามารถที่จะขยายตัวต่อไปในอนาคต ราคา 6 แสนล้านบาท เพื่อที่จะต่ออายุ กิจการของ เฟซบุ๊ค ซึ่งมีมูลค่า 6 ล้านล้านบาท จึงอาจเป็นการเดิมพันทางธุรกิจที่มีความคุ้มค่า หาก วอทส์แอพพ์ มีความสามารถที่จะขยายตัวต่อไปได้อย่างมีความยั่งยืน และสามารถก่อให้เกิดรายได้ใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของเฟซบุ๊ค ทั้งนี้ กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก

1: คู่แข่งของ วอทส์แอพพ์ จากทวีปเอเชีย ได้แก่ ไลน์ และ วีแช็ต ล้วนมีความแข็งแกร่ง ทั้งยังมีการผูกขาดในหลายตลาดที่มีความสำคัญของโลก นอกจากนี้ ยังมี Kakao Talk ที่ผูกขาดตลาดเกาหลีเกือบ 95% และ บีบีเมสเซ็นเจอร์ ซึ่งยังคงมีผู้ใช้งาน 85 ล้านคน และมีความเป็นไปได้ ที่บีบีเมสเซ็นเจอร์ จะยกเลิกการผู้ขาดกับโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี่ นอกจากความแข็งแกร่งในปัจจุบันของบริการเหล่านี้ ยังมีโอกาส ที่นักลงทุน และธุรกิจยักษ์ใหญ่ในโลกเทคโนโลยี จะเข้ามาซื้อกิจการเหล่านี้ และทำให้กิจการเหล่านี้ มีความแข็งแกร่งทางทุนทรัพย์ ที่ไม่แพ้ วอทส์แอพพ์ ก็เป็นได้ นอกไปจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ไลน์ คือ เนเวอร์ จากเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าตลาด กว่า 8 แสนล้านบาท และ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ วีแช็ต คือ เท็นเซ็นต์ จากประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าตลาด กว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งล้วนไม่ใช่ธุรกิจขนาดเล็ก

2: วอทส์แอพพ์ มีความภาคภูมิใจ ในการประกอบธุรกิจด้วยพนักงานเพียง 50 คนในสหรัฐ และมิได้มีการลงทุนทางด้านการตลาดเลย ที่ผ่านมาได้อาศัยการตลาดแบบปากต่อปากในขณะที่ ไลน์ และ วีแช็ต กลับได้ลงทุนทำการตลาดเพื่อขยายตลาดและสร้างฐานในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้สามารถแย่งชิงตลาดมาจาก วอทส์แอพพ์ ได้สำเร็จ การที่ วอทส์แอพพ์ จะใช้ประโยชน์จากเงินทุนที่มีมากขึ้น หลังจากที่ เฟซบุ๊ค ได้เข้าซื้อกิจการ เพื่อทำการตลาดและแย่งชิงตลาดคืนจากคู่แข่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงปรัชญาของธุรกิจ? ซึ่งยังคงต้องพิสูจน์ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่

3: อาจไม่เป็นประโยชน์กับ วอทส์แอพพ์ และ เฟซบุ๊คเลย หากมีการรวมเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม และฐานลูกค้าเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดซินเนอร์จี้ เนื่องจากผู้ใช้งาน วอทส์แอพพ์ และ แอพพลิเคชั่นในรูปแบบของเมสเซ็นเจอร์ หลายคน โดยเฉพาะ กลุ่มผู้ใช้วัยรุ่น หรือที่อายุน้อยกว่า ที่อาจมีความประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงการจะเชื่อมต่อกับโชเชียลเน็ตเวอร์คของ เฟซบุ๊ค การควบรวมกิจการในครั้งนี้ จึงอาจไม่แตกต่างกับ การที่ เฟซบุ๊ค ได้เข้าซื้อ อินสตาแกรม เมื่อสองปีก่อน ซึ่ง เฟซบุ๊ค เกือบจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ อินสตาแกรม เลย

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม การเข้าซื้อ วอทส์แอพพ์ เป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น อีกครั้งหนึ่งของวงการเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่ง ถึงความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่สามารถเป็นเศรษฐีระดับโลก ได้ด้วยความพยายามและความสามารถของตัวเอง ซึ่งความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละครั้ง กลับใช้เวลาที่น้อยลง เพื่อแลกกับผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เมื่อวัดด้วยมูลค่าของเงิน และจำนวนของผู้ใช้งาน

Published in Krungthepturakij on March 4, 2014