จาก BarCamp สู่ Hackerspace สังคมออนไลน์พบโลกชีวิตจริง
/หนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้พบกับ John Berns อยู่หลายครั้ง คนที่ไม่รู้อาจคิดว่าเขาเป็นฝรั่ง Backpacker ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ที่จริงเขาคือเบื้องหลังความสำเร็จของ BarCamp Bangkok ที่จัดมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว และได้รวบรวมนักสังคมออนไลน์จาก Twitter, Facebook ฯลฯ ในประเทศไทยนับพันคน ให้มาตั้ง Camp ข้ามคืนในสถานที่เดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้หรือข้อคิดต่างๆ เปรียบเสมือนการจำลองสังคมออนไลน์ออนไลน์ออกมาสู่โลกแห่งชีวิตจริง จากความสำเร็จของ BarCamp ได้มีข้อเรียกร้องให้จัดเตรียมสถานที่ซึ่งยั่งยืนและถาวร เทียบเท่ากับการมี BarCamp อยู่ทุกวัน นี่คือจุดเริ่มต้นของ Bangkok Hackerspace ที่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสมาชิก 200 คน มีทั้งคนไทย Expats หน่วยงานรัฐ และภาคการศึกษา จุดประสงค์คือการจัดสรรพื้นที่ให้นักสังคมออนไลน์สามารถพบเจอกัน ถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมพัฒนา Open Source หรือกระทั่งบุกเบิกธุรกิจ Startup ได้
ทั้ง BarCamp และ Hackerspace ไม่ใช่สิ่งใหม่ เครือข่ายของ BarCamp มีกว่า 350 จังหวัด 40 ประเทศทั่วโลก ครั้งใหญ่สุดจัดที่ย่างกุ้ง พม่า เมื่อต้นปีนี้ มีผู้เข้าถึง 2,700 คน โดยครั้งแรกได้จัดที่ Silicon Valley สหรัฐอเมริกาเมื่อ 2005 เพื่อเป็นศูนย์รวมไอเดีย Startup ด้าน Social Media หรือ Web 2.0 ปรัชญาของ BarCamp คือเปิดกว้างให้ใครเข้าถึงก็ได้ ไม่มีกำหนด Agenda หรือ Topic ล่วงหน้า ความต้องการของสังคม (Community) จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนใน Topic ที่คนส่วนใหญ่สนใจ จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ BarCamp คือ Foo Camp (Friends of O'Reilly) เป็นกิจกรรมรูปแบบเดียวกัน แต่ต้องถูกเชิญโดย O'Reilly ซึ่งเป็น Publisher ทรงอิทธิพลใน Silicon Valley ขณะนั้นได้เชิญแต่ CEO หรือผู้ก่อตั้งบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ใน Silicon Valley เท่านั้น (กลุ่มเศรษฐีใหม่ Dot Com) BarCamp คือการรวมตัวของผู้ที่ไม่ได้ถูกเชิญเข้า Foo Camp โดยหวังว่าการรวมตัวของพวกตนจะประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่า Foo Camp เสียอีก
รูปแบบของ BarCamp จะไม่เกิน 2-3 วัน โดยมีการค้างคืน (Camp) สำหรับผู้ที่สนใจ ครั้งล่าสุดของไทยได้จัดที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม BarCamp ของไทยยังมีความแตกต่างจากต้นฉบับ ผู้มาร่วมยังเป็นกลุ่มผู้ใช้และผู้สนใจทั่วๆ ไป แต่ขาดผู้บุกเบิกธุรกิจ Startup หรือนักลงทุนในแบบฉบับของ Silicon Valley ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมในหลายๆ ปัจจัยทั้งทางเทคโนโลยีและการลงทุนของประเทศซึ่งยังแตกต่างกับสหรัฐหรือกระทั่งเพื่อนบ้างใน ASEAN อยู่มาก
อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จของ BarCamp John Berns ได้มีแนวคิดที่จะต่อยอด Community โดยอาศัยประโยชน์จากสถานที่ซึ่งยั่งยืนและถาวร เพราะสามารถมีกิจกรรมระยะกลาง-ยาว ที่นำไปสู่การพัฒนา Product ในเชิง Open Source หรือธุรกิจ Startup ได้ โดยมีแนวคิดที่จะก่อตั้ง Bangkok Hackerspace ซึ่งมีเครือข่ายระดับโลก Hackerspace มีโครงสร้างคล้าย Virtual Office เพียงแต่สมาชิกร่วมเป็นเจ้าของและกำหนดนโยบายบริหารในรูปแบบของสโมสรหรือคลับ นอกเหนือจากพื้นที่สำหรับ Networking แทนที่จะพบเจอแบบ Freelance ตามร้านกาแฟชื่อดังต่างๆ ยังมีสถานที่ทำงานจริงๆ ที่สามารถสร้าง Product ได้ และเนื่องจาก Hackerspace หรือ BarCamp ถือกำเนิดมาจากสังคมออนไลน์ ยังมีบริการด้าน Hosting, Servers หรือ Technology
หาก Hackerspace ประสบความสำเร็จ จะเป็นการเพิ่ม Productivity และลด Barrier to Entry สำหรับการร่วมพัฒนา Open Source บุกเบิกธุรกิจ Startup ซึ่งในหลายๆ ประเทศเรียกเป็น Garage Model ซึ่งได้ต่อยอดเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเช่น Facebook, Google, Yahoo ฯลฯ ความพยายามของ John Berns จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย อย่างไรก็ดีเขาก็เป็น Expat คนหนึ่งซึ่งอยู่ประเทศไทยมาไม่ถึง 10 ปี ความสำเร็จของ Hackerspace ต้องการ Contribution ในแบบของ Community ซึ่งหากสังคมของคนไทยแท้ๆ ให้การสนับสนุน ผู้ชนะในที่สุดย่อมเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย
Published in Krungthepturakij on November 30, 2010