ความไม่เท่าเทียม ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย
/นานๆ ครั้ง ถึงจะเห็นแถลงการณ์ร่วม ของคู่แข่งหมายเลข 1 และ 2 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื้อหาสาระไม่ใช่อะไรใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ค้างคามาร่วมทศวรรษ นั่นคือ ความไม่เท่าเทียมเนื่องมาจากเงื่อนไขของการให้บริการ ผู้ประกอบการบางรายมีเงื่อนไขที่ได้เปรียบจากหน่วยงานของรัฐ ความไม่แฟร์นี้ย่อมส่งผลต่อการแข่งขัน ผู้ที่ได้เปรียบย่อมสามารถผูกขาด และส่งผลเสียกับอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของชาติ และผู้บริโภคในที่สุด ข้อเท็จจริงไม่ได้สลับซับซ้อนมาก แต่อาจเข้าถึงได้ยากสำหรับประชาชนทั่วไป เงื่อนไขหลักๆ คือ ระยะเวลา ส่วนแบ่งรายได้ และความกว้างของแถบคลื่น ผู้ที่ได้เวลามากกว่าย่อมได้เปรียบ เพราะลงทุนเท่ากันแต่มีระยะเวลาคืนทุนที่มากกว่า ผู้ที่ส่วนแบ่งรายได้ต่ำกว่าย่อมได้เปรียบ เพราะสามารถตักตวงประโยชน์ได้มากกว่า ผู้ที่แถบคลื่นกว้างกว่าย่อมได้เปรียบ เพราะให้บริการลูกค้าได้มากกว่าในโครงข่ายที่เท่ากัน
ความมหัศจรรย์ของนิทานเรื่องนี้ คือ ผู้ที่ร่วมแถลงการณ์กลับมีทั้งระยะเวลา ส่วนแบ่งรายได้ และแถบคลื่นที่ได้เปรียบอยู่แล้ว แต่กลับเป็นผู้เรียกร้องหาความเท่าเทียมเอง
AIS, DTAC และ TrueMove มีระยะเวลาที่ 25 ปี, 27 ปี และ 17 ปีตามลำดับ มีส่วนแบ่งรายได้ที่ 20%, 25% และ 25% และมีความกว้างของแถบคลื่นที่ 17.5 MHz, 49.8 MHz และ 12.6 MHz เห็นได้ชัดว่า AIS ได้เปรียบส่วนแบ่งรายได้ DTAC ได้เปรียบระยะเวลาและแถบคลื่น ส่วน TrueMove เสียเปรียบในทุกเรื่อง
แม้กระทั่งในรัฐบาลนี้ได้มีความพยายาม ที่จะแก้ไขเรื่องนี้มาตลอดโดยเปลี่ยนสัมปทานเดิม เป็นใบอนุญาตภายใต้โครงการ K2 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะติดด้วยข้อกฎหมาย
ทางออกที่เป็นไปได้อาจจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ด้วยใบอนุญาต 3 G ของ กทช. ที่ต้องหยุดชะงักไป เพราะจะเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการทั้งหมดจะเริ่มต้นใหม่ด้วยเงื่อนไขที่เท่าเทียมกัน และปราศจากความได้เปรียบเสียเปรียบของระบบสัมปทานเดิม
ในบทเฉพาะกาล พ.ร.บ. กสทช. ได้ให้อำนาจ กทช. รักษาการแทน กสทช. และอาจให้อำนาจเพียงพอสำหรับการจัดสรร 3 G ซึ่งสามารถทำได้โดยสวมหมวกรักษาการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ กทช. ว่าจะจัดสรร 3 G เลย หรือรอให้ กสทช. ตัวจริงได้จัดตั้งสำเร็จ
อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงอีกมากที่ กสทช. จะจัดตั้งไม่สำเร็จและซ้ำรอยกับ กสช. ที่ 10 ปีมาแล้วยังไม่สามารถจัดตั้งได้เลย แม้จะมีกฎหมายรองรับก็ตาม แต่ถ้า กทช. เลือกเดิมพันที่จะทำ 3 G โดยไม่รีรอ ประเทศไทยอาจได้มี 3 G ใช้ในปีหน้าแน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระแสสังคมที่จะยอมรับการทำหน้าที่ของ กทช. ในฐานะรักษาการ
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยยังมีทางออก การเร่งผลักดัน พ.ร.บ. กสทช. ของรัฐบาลย่อมส่งผลดีต่อการจัดสรร 3 G ความไม่เท่าเทียมแม้จะมีอยู่จริง สำหรับคนทั่วไปควรศึกษาข้อเท็จจริง และไม่ตกเป็นเครื่องมือของการแสวงผลประโยชน์ ด้วยการผลักดันกระแสสังคมจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน
Published in Krungthepturakij on December 15, 2010