Online Privacy: Internet รู้ความลับคุณมากกว่าทางการไทย
/การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก มีการรณรงค์ให้บริษัทที่ทำธุรกิจออนไลน์แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง CPO หรือ Chief Privacy Officer เพื่อรับผิดชอบความลับของผู้ใช้บริการ ผู้พัฒนา Web Browser เช่น Apple Safari, Google Chrome และ Microsoft Internet Explorer ล้วนแข่งกันนำเสนอบริการ Private Browsing เพื่อปกป้องความลับของผู้ใช้ ส่วนของ Web Site และ Social Media ได้บรรจุ Privacy Policy บนหน้าแรกซึ่งระบุถึงนโยบายในการรักษาความลับ และในบางครั้งบังคับให้ผู้ใช้ยอมรับก่อนจะใช้งานได้ ฟังแล้วเหมือน Online Privacy เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่แล้วทำไมแทบไม่มีการพูดถึงในประเทศไทย
จะเป็นการเข้าใจผิดหากเชื่อว่าความลับที่ธุรกิจออนไลน์ Web Site และ Social Media มีจากผู้ใช้ เป็นเพียงข้อมูลที่ได้นำเสนอให้กับ Web Site จากการสมัครสมาชิก และเลือกกรอกข้อมูลที่เป็นความลับและส่วนตัว เช่น ชื่อนามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด Credit Card และรหัสต่างๆ ความเชื่อนี้ทำให้ปลอดภัยได้เพียงระดับหนึ่ง โดยระวังการให้ข้อมูลกับ Web Site ที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ความจริงแล้วที่สุ่มเสี่ยงสูงสุดคือข้อมูลที่สมาชิกไม่ได้กรอกหรือหยิบยื่นด้วยความสมัครใจ แต่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและประมวลได้ด้วยสถิติ
ธุรกิจออนไลน์ที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่ไพศาล และมีนักสถิติระดับปริญญาเอกหลายร้อย หลายพันคน สามารถจำลองโมเดลชีวิตผู้ใช้ จากการใช้งานโดยกดลิงค์ต่างๆ หรือกระทั่ง Search คำต่างๆ และโยงกลับมาสู่ตัวตนของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ถึงผู้ใช้จะไม่ได้หยิบยื่นข้อมูลที่เป็นความลับให้เลย แต่พฤติกรรมการใช้งาน สามารถถูกคำนวณโดยหลักสถิติ และผนวกกับข้อมูลอื่นๆ ที่เปิดเผยอยู่แล้ว เพื่อสืบหาว่าผู้ใช้มาจากประเทศใด จังหวัดใด ถนนใด เป็นชายหรือหญิง อายุเท่าไหร่ ชอบอะไร อาชีพอะไร เป็นโรคร้ายอะไร มีปัญหาครอบครัวหรือเปล่า หรือกระทั่งเป็นใคร
เทคนิคนี้เรียกกันแพร่หลายในวงวิชาการว่า Click Stream Analysis อาศัยความสามารถที่ธุรกิจออนไลน์สามารถเห็นการใช้งานผ่านหลายๆ Web Site โดยมีตัวอย่าง Double Click และ Google Adsense ที่ฝังตัวเองในรูปแบบของ Cookie ลงหลายล้าน Web Site โดยให้รายได้โฆษณาเป็นสิ่งตอบแทน สำหรับประเทศไทยมี Truehits ทำหน้าที่เก็บสถิติการใช้งานของ Web Site ในประเทศ และมีข้อมูลแบบหน้าต่อหน้า Click ต่อ Click
ปัจจัยสำคัญคือการ Track ผู้ใช้โดยใช้ข้อมูล IP Address หรือกระทั่ง Cookie เพื่อชี้เฉพาะ ตัวอย่างเช่น Google สามารถเห็นได้ว่า ผู้ใช้คนหนึ่ง Search เกี่ยวกับ โรคร้ายบางอย่าง จากนั้น Search หาโรงพยาบาลในเชียงใหม่ และได้เข้า Web Site ขายเสื้อผ้าผู้ชาย ซึ่งติด Google Adsense เพื่อเลือกขนาดและแฟชั่นที่เหมาะกับชายวัย 35-45 ปี และเข้า Web Site ของชมรมมอเตอร์ไซค์ในเชียงใหม่ ซึ่งติด Google Adsense เช่นกัน และมีสมาชิกเพียง 15 คน และผู้ชาย 3 คน ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ย่อมชี้นำให้ นักสถิติสามารถคำนวณได้ว่า ผู้ชายคนนี้เป็นใคร ชื่ออะไร ที่อาจมีโรคร้าย ฯลฯ โดยที่ไม่เคยกรอกข้อมูลอะไรทั้งสิ้นเลย ข้อมูลนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงค่ำคืนเดียว แต่ Google และธุรกิจออนไลน์ที่มีความสามารถย่อมเก็บข้อมูลของผู้ใช้เป็นปีหรือทศวรรษ ความแม่นยำและปริมาณของความลับที่คำนวณได้ย่อมสูงและเป็นภัยได้มากกว่านี้อีกแน่นอน
การ Track ผู้ใช้ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ไม่ดีของธุรกิจออนไลน์ แต่บริการบางประเภทมีความจำเป็นเพื่อการสมัครสมาชิก และ Personalization หรือ Customization ต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณและนโยบาย Privacy Policy ของแต่ละธุรกิจในการรับผิดชอบและรักษาความลับ และการระวังตัวของผู้ใช้เอง ในขณะที่ Internet มีอิทธิพลกับสังคมไทยมากขึ้นทุกวัน อาจถึงเวลาแล้วที่เราควรให้สำคัญกับ Online Privacy และกำกับดูแลอย่างชัดเจน ก่อนความสูญเสียจะเกิดขึ้น
Published in Krungthepturakij on October 4, 2010