Kickstarter จากแนวคิดสู่นวัตกรรมด้วย Crowd Funding
/แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม มักต้องการเงินทุน เพื่อที่จะขับเคลื่อนสู่นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ในบางครั้ง การระดมทุน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่ทุกคน ที่มีทุนทรัพย์เป็นของตัวเอง หรือมีเส้นสาย ที่จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายของแหล่งทุนได้ ผู้ที่ริเริ่มธุรกิจหลายคน แม้กระทั่ง Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ก็เคยผ่านขั้นตอนนี้มาก่อน ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง Apple ได้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก การระดมทุน ในรูปแบบที่มาตรฐานที่สุด คงหนีไม่พ้นการกู้ยืมจากธนาคาร แต่สำหรับธุรกิจนวัตกรรม กลับมีหลากหลายวิธีการ ที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบของธุรกิจ Crowd Funding เป็นอีกวิธีหนึ่ง ของการระดมทุน ที่อาศัยช่องทางของอินเทอร์เน็ต ในการสร้างเครือข่ายของผู้สนับสนุน ผู้ที่สนใจโดยทั่วไป สามารถร่วมสนับสนุนแนวคิดได้โดยตรง ทั้งนี้ Kickstarter เป็นบริการออนไลน์ ที่อาศัยรูปแบบของ Crowd Funding เพื่อระดมทุนให้กับแนวคิดต่างๆ เพื่อให้เจ้าของแนวคิด นำสามารถไปสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ
การใช้งาน Kickstarter เริ่มจากเจ้าของแนวคิดที่ทำการประชาสัมพันธ์ผ่าน Kickstarter โดยระบุวัตถุประสงค์ จำนวนเงินที่ต้องการ และสิ่งที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ หากสนับสนุนในจำนวนเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็นบริการหรือสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด แต่ไม่ใช้สัดส่วนความเป็นเจ้าของ ในรูปแบบของการลงทุน สำหรับแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนในจำนวนเงินที่ต้องการ เจ้าของแนวคิดจะใช้เงินทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสู่การสร้างนวัตกรรม แต่สำหรับแนวคิดที่ไม่ได้รับจำนวนที่ต้องการ ก็จะไม่มีการเรียกเก็บเงินสนับสนุนทั้งสิ้น
Pebble E-Paper Watch เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม ที่ได้ระดมทุนผ่าน Kickstarter โดยแนวคิดคือการสร้างนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ที่ใช้กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ (E-Paper) เป็นหน้าจอ และสามารถเชื่อมต่อกับ iPhone หรือ Android โดยผ่านเทคโนโลยี Bluetooth ก่อนหน้านี้ เจ้าของแนวคิด ได้พยายามระดมทุนผ่านช่องทางอื่นๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา จึงได้ทดลองระดมทุนผ่าน Kickstarter ซึ่งถึงแม้จะตั้งเป้าหมายของการระดมทุนไว้ที่ 100,000 ดอลลาร์ แต่กลับสามารถระดมทุนได้กว่า 10 ล้านดอลลาร์ โดยมีผู้สนับสนุนเกือบ 70,000 ราย ซึ่งผู้สนับสนุนแนวคิดจะรับได้นาฬิกาอัจฉริยะในรุ่นพิเศษ ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามช่องทางปกติ เมื่อการสร้างนวัตกรรมประสบความสำเร็จ
ในที่สุด Pebble E-Paper Watch ได้ถูกสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และถูกวางตลาดที่ราคา 150 ดอลลาร์ และมียอดจำหน่าย 15,000 เรือนต่อสัปดาห์
นอกจาก Pebble E-Paper Watch ยังมีอีกหลายร้อยแนวคิด ที่ถูกสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยการระดมทุนผ่าน Kickstarter ตัวอย่างที่น่าสนใจคือสารคดีเรื่อง Sun Come Up และสารคดีเรื่อง Incident in New Baghdad ที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter และประสบความสำเร็จจนได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ ปัจจุบัน กว่า 10% ของภาพยนตร์อิสระ ที่เข้าชิงรางวัล ในสหรัฐ ล้วนมีการระดมทุนผ่าน Kickstarter
ไม่เพียงแต่ ผู้ที่ขาดเส้นสายสำหรับเข้าถึงเครือข่ายของแหล่งทุน ที่เป็นผู้ใช้ Kickstarter แต่ผู้มีชื่อเสียง เช่น ดาราตุ๊กตาทอง Whoopi Goldberg และผู้ที่เคยประสบความสำเร็จในวงการต่างๆ ได้เลือกใช้ Kickstarter เพื่อระดมทุนให้กับแนวคิดของตัวเอง
ในประเทศไทย ได้เริ่มมีการใช้ Kickstarter ในการระดมทุน แนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนสูงสุด คือการสร้างสารคดีเรื่อง The Cheer Ambassadors ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทีมเชียร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สามารถเอาชนะการแข่งขันทีมเชียร์ระดับโลก ที่สหรัฐ โดยได้ตั้งเป้าหมายการระดมทุนที่ 19,999 ดอลลาร์ แต่สามารถระดมทุนได้ถึง 39,269 ดอลลาร์ โดยมีผู้สนับสนุน 99 ราย สารคดีเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จ และชนะเลิศการประกวดสารคดีระดับโลก ที่ประเทศนอร์เวย์
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกแนวคิด ที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter แล้ว จะประสบความสำเร็จ เพียง 43 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ของแนวคิด ที่ได้รับการสนับสนุน สามารถนำไปสร้างเป็นนวัตกรรมอย่างประสบความสำเร็จ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าสนับสนุน จะต้องรับรู้และยอมรับความเสี่ยงนี้ได้ ว่าเงินทุนสนับสนุนของตน อาจเป็นสิ่งที่สูญเปล่า หากแนวคิดไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ถึงกระนั้น Kickstarter และวิธีการของ Crowd Funding ได้บุกเบิกรูปแบบใหม่ของการระดมทุน ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของแนวคิด ที่ขาดทุนทรัพย์หรือเส้นสาย สามารถสร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ โอกาสเช่นนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย รูปแบบของการทำ Crowd Funding จึงอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ที่ยังไม่มีิเงินทุนสนับสนุนสำหรับการสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด Digital Content ที่กำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการประมูล 3G
Published in Krungthepturakij on March 5, 2013