สตาร์ทอัพ vs. พ.ร.บ. คอมฯ
/ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน มีจำนวนมากที่อยู่ภายใต้รูปแบบของ Sharing Economy นั่นก็คือ การให้บริการ ที่ เว็บไซต์ หรือ แอพ เช่น Uber, Airbnb, GrabTaxi ฯลฯ ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลาง โบรกเกอร์ หรือ ตลาด สำหรับผู้ให้บริการ ที่ความจริงแล้ว ก็คือผู้ใช้งานที่ปลายทาง ที่นำทรัพยากรที่ตนมีอยู่ มายกระดับเพื่อให้บริการผ่าน เว็บไซต์ หรือ แอพ เช่นรถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ ในกรณีของ Uber หรือ GrabTaxi และที่พักในกรณีของ Airbnb
Sharing Economy นั้น แท้ที่จริง ก็สืบสันดานมาจากรูปแบบของ Peer-to-Peer ซึ่งมีธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จประสบความสำเร็จจากยุคก่อนหน้านี้ ด้วยการให้บริการที่มาประยุกต์เป็น Social Networks หรือ Social Media เช่น Facebook, YouTube ฯลฯ
เช่นเดียวกัน Facebook หรือ YouTube ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยเป็นเวทีกลางเพื่อให้ ผู้ใช้งานที่ปลายทาง นำเนื้อหาที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ ข้อความ วีดีโอ ฯลฯ มานำเสนอผ่านช่องทางของ เว็บไซต์ หรือ แอพ
ในเชิงกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Sharing Economy, Peer-to-Peer, Social Networks หรือ Social Media นั้น มีปัญหาที่คล้ายคลึงกันหมด นั่นก็คือ ขอบเขตความรับผิด ของ Uber, Airbnb, GrabTaxi, Facebook, YouTube ฯลฯ ต่อการกระทำของผู้ใช้งาน ที่ได้นำเสนอ บริการ หรือ เนื้อหาผ่านระบบ อย่างผิดกฎหมาย
พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม) ได้กำหนดไว้ในมาตรา 15 ว่า
“ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14”
นั่นหมายความว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพ ในรูปแบบของ Sharing Economy หรือ Peer-to-Peer จะต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ใช้งานที่กระทำผิด โดยเป็นคดีอาญาที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เว้นแต่ว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด ซึ่งก็ต้องเป็นการพิสูจน์ในชั้นศาล ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ว่าจะพิสูจน์อย่างไร ว่าตนไม่ได้สนับสนุนหรือยินยอม จึงเป็นการเดิมพันที่ถึงขั้นต้องมาติดคุกติดตารางสำหรับผู้ที่ริเริ่มมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ในรูปแบบของ Sharing Economy, Peer-to-Peer, Social Networks หรือ Social Media
เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรา 15 ใน พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม เป็นที่หวาดกลัวของธุรกิจข้ามชาติ ที่หลีกเลี่ยงการมาจดจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย และได้เลือกประเทศเพื่อนบ้านเช่นสิงคโปร์ ทั้งๆที่ ตลาดที่ใหญ่กว่าคือประเทศไทย ส่วนหนึ่งของเงินที่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยนั้น ได้รั่วไหลออกโดยตรงไปที่สิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ทั้ง GDP ภาษี ฯลฯ เลย
แต่สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยนั้น ย่อมไม่มีทางเลือกที่จะไปจดจัดตั้งนิติบุคคลในต่างประเทศ เพื่อที่จะ หลบเลี่ยง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจสตาร์ทอัพ ย่อมไม่มีกำลังทรัพย์ ที่จะจ้างทีมทนายความเป็นพนักงานประจำ ที่อาจต้องมีจำนวนมากกว่าทีมโปรแกรมเมอร์ ที่จะมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน โดยใช้เวลาตั้งแต่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา สำหรับทุกๆหนึ่งครั้ง ที่ผู้ใช้งานของบริการตนได้ทำความผิด
ตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ: ธุรกิจสตาร์ทอัพ ทำ เว็บไซต์ และ แอพ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้ามา Review ร้านอาหารได้ แต่มีอยู่มาวันหนึ่ง ผู้ใช้งานของ ธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้เข้าไปเขียน Review ที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 14 โดยที่ ทีมงานของ ธุรกิจสตาร์ทอัพ อาจไม่มีเวลาได้ตรวจทาน หรืออาจขาดความเชี่ยวชาญที่จะทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ จึงได้ปล่อยผ่านเข้าระบบไป
ผลที่ตามมาทันที คือ เจ้าของ กรรมการ หรือ ทีมงาน ของ ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาตาม มาตรา 15 และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองต่อไป จะได้รอดจากการที่ต้องถูกจำคุก
และหากธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง และมีผู้ใช้งานที่เขียน Review เป็นจำนวนมาก ในหลักร้อยหรือหลักพัน บทวิจารณ์ต่อวัน โอกาสที่จะมีผู้ใช้งานที่เขียน Review ที่มีความผิดย่อมต้องสูงขึ้นไปด้วย และทุกหนึ่งครั้ง ที่มีผู้ใช้งานที่เขียน Review ที่ผิดกฎหมาย ก็สามารถถูกดำเนินคดีเป็นอีกหนึ่งคดีได้ทุกครั้งสำหรับ เจ้าของ กรรมการ หรือ ทีมงาน ของ ธุรกิจสตาร์ทอัพ
สำหรับแนวทางสากล ได้มีการกำหนดขอบเขตความรับผิดสำหรับตัวกลาง ที่เหมาะสมกับ Social Networks หรือ Social Media เช่น Facebook หรือ YouTube ไว้เป็นอย่างได้ โดยระบุ ขั้นตอนการแจ้งเตือน และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ที่เรียกกันว่า Notice and Take Down โดยกำหนดเป็น Safe Harbor ให้กับผู้ให้บริการที่ไม่ได้มีเจตนา จงใจสนับสนุนหรือยินยอม
เพื่อแก้ไขปัญหาในกฎหมายฉบับเก่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ ที่ได้จัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่) ที้ได้กำหนดเพิ่มในมาตรา 15 ว่า
“ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
ซึ่งสอดคล้องกันแนวทาง Notice and Take Down ของสากล และยกระดับกฎหมายของไทยให้เทียบเท่ากับแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติกัน ในนานาอารยประเทศ
อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหละหลวม และเปิดช่องว่างให้ผู้ที่กระทำผิดสามารถลอยนวลได้ เพราะผู้ที่กระทำผิดตามมาตรา 14 คือผู้ที่นำเสนอข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ ยังคงต้องรับผิดอยู่ แต่การที่จะไปเอาผิดบริการเช่น Facebook หรือ YouTube ถึงขั้นต้องติดคุก ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม คงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และไม่ใช่แนวทางสากลแต่แรกอยู่แล้ว
การแก้ไขมาตรา 15 ตาม ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ เป็นก้าวเดินที่สำคัญในเส้นทางที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาล ที่จะแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ในประเด็นปัญหาที่สำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย
Published in Krungthepturakij on June 21, 2016