เทคโนโลยี : โอกาสหรือวิกฤตของอุตสาหกรรมการเงิน
/เป็นเหตุการณ์ปกติของทุกปี ที่นับจากเดือนนี้เป็นต้นไป จะเริ่มมีข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับไอโฟนรุ่นต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แอปเปิลจะมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ของไอโฟน ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกัน ได้มีข่าวลือของ iPhone 6 ที่น่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนกันยายนของปีนี้ โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด สำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไป ย่อมต้องหนีไม่พ้นขนาดของหน้าจอ ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนเป็น 5.5 นิ้ว เมื่อเทียบกับ 4.7 นิ้วของไอโฟนรุ่นปัจจุบัน
แต่แท้ที่จริงแล้ว คุณสมบัติใหม่ ที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับอุตสาหกรรมการเงิน ย่อมต้องหนีไม่พ้น เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะสั้น (Near Field Communication: NFC) ที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงิน อยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่แอปเปิลเป็นบริษัทสุดท้าย ที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยี แต่กลับมิได้อยู่ในกลุ่มผู้บุกเบิก ที่ยอมรับในเทคโนโลยีนี้
NFC เป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะสั้น โดยมีระยะประมาณ 4 เซนติเมตร สำหรับอุตสาหกรรมการเงินแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถใช้สมาร์ทโฟนแทน บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน และกระทั่งเงินสด เพื่อความสะดวกสบายในการจ่ายเงิน โดยที่ผู้บริโภคอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพกพากระเป๋าสตางค์อีกต่อไป และสามารถจ่ายเงินได้โดยการยกสมาร์ทโฟนขึ้นสัมผัส ณ จุดขาย
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด สำหรับ NFC ในประเทศไทย คือการที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถใช้สมาร์ทโฟน จ่ายเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญของ NFC คือการที่เฉพาะสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ ในระดับไฮเอนด์เท่านั้น ที่รองรับเทคโนโลยีนี้ และเครือข่าย ณ จุดขาย ที่รองรับเทคโนโลยี ยังคงมีอยู่จำกัด การที่ iPhone 6 จะรองรับ NFC ย่อมต้องเกิดผลสำคัญต่อความสำเร็จ เพราะ NFC ต้องอาศัยพลังทางหลักเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกว่า Network Externalities และ Network Effects ที่จะเกิดขึ้นจากจำนวนของอุปกรณ์ที่รองรับ ทั้งในด้านของสมาร์ทโฟนและ ณ จุดขาย
แต่ถึงกระนั้น NFC สำหรับ ไอโฟนรุ่นต่อไป ก็ยังคงเป็นข่าวลือ ซึ่งข่าวลือดังกล่าว ได้มีมาหลายปีแล้ว แต่แอปเปิล อาจได้วิเคราะห์ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่สมควร จึงเป็นโอกาสให้ ผู้นำในระบบแอนดรอยด์ เช่น ซัมซุง แอลจี โซนี ฯลฯ เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีไปก่อน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การจ่ายเงิน เป็นเพียงแค่หนึ่งมิติ ของการที่เทคโนโลยีกำลังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงิน
ในอีกด้านหนึ่ง ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก คือการที่สมาร์ทโฟนได้พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งรวมไปถึง การฝากเงิน การกู้เงิน การซื้อประกัน ฯลฯ โดยได้ถูกพัฒนามาทดแทนเครื่องเอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารในหลายประเทศ ซึ่งวิวัฒนาการที่สำคัญ กลับมิใช่การที่ธนาคารที่มีตัวตนอยู่แล้ว ได้เพิ่มสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า แต่เป็นการที่ผู้เล่นรายใหม่ สามารถแซงหน้าธนาคาร และให้บริการธุรกรรมทางการเงินโดยอาศัยสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลัก และก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันการเงินระดับแนวหน้าของประเทศ โดยมิต้องไปเริ่มต้นจากการมีเครือข่ายของสาขา และเครื่องเอทีเอ็มที่มีอยู่ทั่วประเทศ
การปฏิวัติของอุตสาหกรรมการเงิน กลับเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ในประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะประเทศเหล่านี้ มีข้อจำกัดคือ อุตสาหกรรมการเงินที่ยังไม่แข็งแกร่ง ไม่มีสาขาและเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และประชากรเป็นจำนวนมาก ยังไม่เคยมีบัญชีธนาคาร จึงเป็นบ่อเกิดของการเงินนอกระบบ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างของประเทศดังกล่าว ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย
ข้อจำกัดเหล่านี้ กลับถูกปรับเปลี่ยนเป็นโอกาส เมื่อจำนวนของผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ได้มีมากกว่าจำนวนของผู้ที่มีบัญชีธนาคาร บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงได้เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศเหล่านี้ และในบางประเทศ รัฐบาลยังให้การสนับสนุน เพราะเป็นโอกาสที่จะเพิ่มความมั่นคงและกระทั่งความมั่งคั่งของประชากรในประเทศ
สำหรับประเทศไทย แม้อาจไม่มีปัญหาทางด้านการเข้าถึงสาขาและเครื่องเอทีเอ็มของธนาคาร แต่การเข้าถึง บัตรเครดิต บัตรเดบิต ฯลฯ ยังคงมีข้อจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวนของโทรศัพท์มือถือ และกระทั่งสมาร์ทโฟน ได้มีมากกว่าจำนวนของ บัตรเครดิต บัตรเดบิต ฯลฯ ภายในประเทศ ด้วยปัจจัยทางการตลาด และการสนับสนุนทางธุรกิจที่เหมาะสม จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟน ได้พัฒนาสู่การเป็นช่องทางหลักอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคาดคะเนไม่ได้ คือบทบาทของสถาบันการเงินในประเทศ ท่ามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เมื่อเครื่องมือในการเข้าถึงลูกค้าที่สำคัญที่สุด ของสถาบันการเงิน ซึ่งได้แก่ สาขา เครื่องเอทีเอ็ม บัตรเครดิต บัตรเดบิต ฯลฯ กำลังจะถูกแย่งชิงบทบาทโดยสมาร์ทโฟน ที่จะมีการเข้าถึงและใกล้ชิดกับลูกค้า อย่างที่เครื่องมือของธนาคารจะไม่สามารถที่จะกระทำได้เลย จึงจะเป็นโอกาสของ สถาบันการเงินที่จะพยายามรักษาไว้ซึ่งสถานภาพปัจจุบัน (Status Quo) โดยการเพิ่มสมาร์ทโฟนเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงลูกค้า
หรือจะเป็นวิกฤตของอุตสาหกรรม เมื่อเกิดผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ผลิตสมาร์โฟน เช่น แอปเปิล ซัมซุง ฯลฯ หรืออาจจะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือจะเป็นผู้เล่นจากวงการอื่นที่ไม่อาจคาดคิดถึงก็ตาม เข้ามาช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางของธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน ภายใต้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นใหม่ จนเกิดเป็นการถูกทำลาย (Disruption) ของ Ecosystem เดิมในอุตสาหกรรมการเงิน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในรอบหลายทศวรรษ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เห็นบทบาทของเทคโนโลยี ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมสื่อ? ซึ่งได้เกิดเป็น โซเชียลมีเดีย ดิจิทัลมีเดีย ฯลฯ ที่ได้มาแทนที่สื่อกระแสหลัก แต่นับจากจุดนี้ไป มีโอกาสสำคัญที่เทคโนโลยี กำลังจะปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงินอย่างไม่แพ้กัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวยิ่งกว่าที่หลายคนจะคาดคิดถึง
Published in Krungthepturakij on April 29, 2014