Social Media ประเทศไทย เป็นได้แค่ผู้ตาม
/ระยะหลังมานี้ เห็นแต่ข่าวของ Twitter หรือ Facebook อยู่ทุกวัน กลายเป็นเทรนด์ของคนในสังคม ที่จะต้องมีการเขียนทวีต หรือพยายามผนวก Twitter และ Facebook เข้ากับชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้ตกแฟชั่น และสามารถเกาะกระแสการนิยมเห่อแบบไทยๆ ได้ เป็นข้อดีของวงการอินเทอร์เน็ตบ้านเรา เพราะไม่เคยมียุคใด ที่สื่อให้ความสนใจถึงเพียงนี้
อย่างไรก็ดีเคยสงสัยไหมว่าอาการเห่อเช่นนี้ เป็นเฉพาะในประเทศไทยหรือเปล่า หรือประเทศเพื่อนบ้าน ก็คลั่งกระแสเห่อของนอกตามเราด้วย
จากบล็อกที่เขียนเมื่อสองอาทิตย์ก่อน "กรณี Google ถอนตัวจากจีน" การที่บริการท้องถิ่นเอาชนะยักษ์ใหญ่จากสหรัฐ อย่างเช่น Baidu ชนะ Google นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ Search Engine จะเห็นได้ว่า Social Network เจ้าถิ่น อาทิเช่น QQ ของจีน Cyworld ของเกาหลี Mixi ของญี่ปุ่น ล้วนแต่เป็นอันดับหนึ่งในประเทศของตน และสามารถปกป้องตลาดจากการรุกราน โดย Facebook ในกระแสโลกาภิวัตน์ไว้ได้
แม้กระทั่งในอินเดียและอินโดนีเซีย มี Mobile Social Network ชื่อ Mig33 ซึ่งมีการส่งข้อความภายในประเทศเป็นสองเท่าของจำนวนทวีตของ Twitter รวมกันทั้งโลก
คงไม่ต้องพูดถึงประเทศไทย ซึ่งกำลังผันจากกระแส Hi5 มาสู่ Facebook หรือกระทั่ง Twitter โดยไม่เห็นเงาของบริการท้องถิ่นเลย
ระหว่างที่พวกเรากำลังเห่อนอกกัน Venture Capitalists (VC) จาก Silicon Valley ต่างถือเงินไปลงทุนที่เวียดนาม รอบละกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างบริการ Social Media ท้องถิ่นขึ้นมา โดยแชร์ความเป็นเจ้าของกับคนท้องถิ่นไฟแรง แบบ VC ลงเงินและประสบการณ์
ส่วนคนท้องถิ่นลงแรง อย่างเช่น Vinagame ลงเงินไป 5 แสนดอลลาร์ แต่ปัจจุบันมีรายได้ปีละ 50 ล้านดอลลาร์ และกำลังพัฒนาเกมเองมาเพื่อตีตลาดโลกแล้ว
เคยถามว่าทำไมเขาไม่มาลงประเทศไทย เหตุผลที่ได้คือความพร้อมของประเทศ ซึ่งรายละเอียดน่าจะเดาๆ กันได้ แต่ค่านิยมและความพร้อมของการศึกษาเป็นเหตุผลใหญ่ในนั้น ไม่เพียงเท่านี้ ยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ยังมาสร้าง Innovation Center ในเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว และสองปีก่อน Intel ได้ทุ่ม 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในเวียดนาม เร็วๆ นี้ Google.org ยังได้เลือก กัมพูชา และไม่ใช่ประเทศไทย เป็น? Regional
สำหรับประเทศไทยแล้ว อุตสาหกรรม อินเทอร์เน็ต และ Social Media อาจไม่ได้สำคัญที่สุด แต่ความสามารถทางการแข่งขัน หรือกระทั่งค่านิยม ควรเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งหาก Creative Economy สำเร็จได้ซักครึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ คนไทยเราคงภูมิใจที่ได้ใช้บริการ Social Media ของตัวเอง และมีโอกาสไปแข่งขันในตลาดโลก อย่างไม่น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้านของเรา
Published in Krungthepturakij on April 15, 2010