การล่วงรู้ความลับส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ต

เมื่อต้นเดือนนี้ ได้มีเหตุการณ์อื้อฉาว (Scandal) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความลับส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อได้มีการเปิดโปงโครงการ PRISM ของรัฐบาลสหรัฐ โดยอ้างว่าเป็นโครงการเพื่อการดักฟัง ดักอ่าน สืบค้น และทำ Analytics กับข้อมูลที่อาจเป็นความลับส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และมีการพาดพิงถึงบริษัทชั้นนำในโลกอินเทอร์เน็ต เช่น Microsoft , Yahoo!, Google, Facebook, YouTube, Apple ฯลฯ ที่อาจให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐ ผู้ที่เปิดโปงโครงการ PRISM ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของหน่วยสืบราชการลับ (CIA) และในขณะนี้ได้ถูกแจ้งจับในข้อหาเปิดเผยความลับของราชการ ยังได้อ้างอิงว่า โครงการ PRISM จะทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถดักฟัง ดังอ่าน สืบค้น และทำ Analytics กับการใช้โทรศัพท์ ส่งอีเมล์ ส่ง SMS โพสข้อความต่างๆ สถานที่ของผู้ใช้งาน (Location) ฯลฯ ผ่านบริษัทชั้นนำที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น ความลับที่รัฐบาลสหรัฐสามารถล่วงรู้ได้ กลับมิใช่เพียงความลับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นชาวอเมริกันเท่านั้น แต่กลับครอบคลุมถึงความลับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 50% ของโลก ซึ่งอาจรวมถึงผู้ใช้งานในประเทศไทยด้วย เพราะเป็นการใช้งานผ่านบริษัทชั้นนำเหล่านี้ ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation) และมีการให้บริการที่คล้ายกับการผูกขาดในระดับโลก

เรื่องอื้อฉาวของโครงการ PRISM ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความหวาดกลัวของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งบริษัทชั้นนำที่ถูกพาดพิงต้องออกมาชี้แจงอย่างมีข้อกังขา แต่ยังทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง ถึงความเหมาะสมของรัฐบาลสหรัฐในการดักฟัง ดักอ่าน สืบค้น และทำ Analytics กับข้อมูลที่อาจเป็นความลับส่วนบุคคล และความเหมาะสมของบริษัทชั้นนำที่อาจให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

นอกจากเหตุการณ์อื้อฉาวในประเทศของสหรัฐ​ รัฐบาลของประเทศต่างๆ เช่น จีน เยอรมัน อิตาลี อังกฤษ ฯลฯ ยังได้ออกมาประนามการกระทำของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน แต่ยังเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศอื่นๆ ที่ครอบคลุมถึง 50% ของโลก และอาจเป็นประชาชนของประเทศเหล่านั้น

ปัจจุบันเป็นยุคของการเข้าสู่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากทุกที่ทุกเวลา โดยมีอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่น Smartphone และโครงข่ายไร้สายเช่น 4G และ 3G ข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจเป็นความลับได้ถูกสร้างขึ้นและได้ถูกเผยแพร่จากทุกที่ทุกเวลาโดยอุปกรณ์เหล่านี้ ข้อมูลดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะรวมถึง การใช้โทรศัพท์ ส่งอีเมล์ ส่ง SMS โพสข้อความต่างๆ แต่ยังมีข้อมูล Location ของลูกค้าที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลได้ ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน (User Generated Content) ข้อมูลที่อาจเป็นความลับส่วนบุคคลในปัจจุบัน มีปริมาณมากกว่าข้อมูลจากยุคก่อนหน้าอย่างเป็นทวีคูณ เพราะว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากทุกที่ทุกเวลา ย่อมทำให้เกิดการสร้าง User Generated Content จากทุกที่ทุกเวลาเช่นกัน ทั้งที่ผู้ใช้งานอาจรู้ตัวและอาจไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ ในหลายประเทศ User Generated Content เช่นข้อความที่ถูกโพส, Location, การเชื่อมต่อเป็นเพื่อนใน Facebook ฯลฯ สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ หรือกระทั่งข้อมูล Location เช่นว่าผู้ใช้งานไม่ได้อยู่ที่บ้าน อาจเป็นช่องทางให้โจรขึ้นบ้านได้ การกำหนดนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) จึงมีความสำคัญเพราะเป็นการกำหนดให้ข้อมูลที่อาจเป็นความลับดังกล่าว สามารถถูกรับชมได้โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี บริษัทต่างๆ ซึ่งรวมถึง ผู้ผลิต Smartphone, ผู้ให้บริการโครงข่าย, ผู้ให้บริการ App ต่างๆ เช่น Google Facebook และ Youtube ฯลฯ ล้วนมีความสามารถในการ ดักฟัง ดักอ่าน และสืบค้นข้อมูล ของผู้ใช้งานทั้งสิ้น แม้จะมีการตั้ง Privacy Policy ก็ตาม อย่างไรก็ดีข้อมูลที่แต่ละบริษัทสามารถเข้าถึงได้ อาจขาดความสมบูรณ์ ซึ่งการประมวลข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ด้วยการทำ Analytics โดยโครงการเช่น PRISM สามารถทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์มาก และเกิดอันตรายขึ้นได้

ความลับส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ต อาจไม่ได้รับความสนใจในในประเทศไทยมากนัก แต่ถึงจะเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการกำกับดูแล เนื่องจากบริการส่วนใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต ล้วนได้ถูกผูกขาดโดย Multinational Corporation ที่ให้บริการข้ามพรมแดน และอยู่นอกเหนือการควบคุมดูแลของกฎหมายไทย อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้กับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะสามารถควบคุมดูแลเพื่อจำกัดการสร้าง User Generated Content ที่อาจเป็นความลับส่วนบุคคล และเพื่อที่จะทำความเข้าใจเพื่อกำหนด Privacy Policy ในการใช้บริการต่างๆ

Published in Krungthepturakij on June 25, 2013