OTT ธุรกิจแสนล้านที่ไม่ต้องลงทุน

คงจะเป็นเรื่องแปลก หากจะมีใครสักคนในประเทศไทย ที่ใช้สมาร์ทโฟนและยังไม่รู้จัก App ที่เรียกว่า Line หรือ WhatsApp ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน Line กว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่มีผู้ใช้งาน WhatsApp กว่า 300 ล้านคน แม้แต่ในประเทศไทยยังมีผู้ใช้งาน Line เกือบ 20 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 30% ของประชากรไทยทั้งประเทศ

บริการหลักของ Line และ WhatsApp ที่นอกเหนือจากบริการเสริมในเชิงของ Social Network ที่รวมถึง Sticker ฯลฯ นั้น คือความสามารถในการส่งข้อความในรูปแบบของตัวหนังสือ ภาพ เสียง และวีดิโอ และความสามารถในการมีบทสนทนาด้วยเสียงหรือวีดิโอ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

จากมุมมองของผู้บริโภค อาจเปรียบได้ว่า Line และ WhatsApp สามารถให้บริการที่คล้ายคลึงกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยผ่าน App ของ Line และ WhatsApp และไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าบริการ Data ในรูปแบบของ 3G หรือ 4G ที่ผู้บริโภค ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมอยู่แล้ว

Read More

แกะรหัส WikiLeaks: ท้ารัฐบาลด้วยประกันชีวิต

สัปดาห์ที่ผ่านมา WikiLeaks ได้เผยแพร่ไฟล์ WikiLeaks Insurance 20130815 ที่มีขนาด 349 GB ซึ่งเป็นไฟล์ที่กุมความลับอันหน้าสะพรึงกลัว ของรัฐบาลในหลายประเทศ และยังมีความลับอีกมากมาย ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของ WikiLeaks ไฟล์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ด้วยเทคโนโลยีบิททอร์เรนท์และสามารถดาว์นโหลดได้โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากทุกมุมโลก ทั้งนี้ WikiLeaks ได้เข้ารหัสไฟล์ดังกล่าวด้วยเทคโนโลยี AES-256 โดยรหัสจะถูกเผยแพร่เมื่อเหตุการณ์ที่เลวร้าย ได้เกิดขึ้นกับ WikiLeaks หรือกลุ่มผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นพรรคพวกของ Julian Assange เมื่อนั้นไฟล์ดังกล่าวจะสามารถถูกถอดรหัสได้ และความลับทั้งหมดจะถูกเปิดเผย WikiLeaks Insurance 20130815 จึงเปรียบเสมือนเป็นประกันชีวิตสำหรับ WikiLeaks และพรรคพวกของ Julian Assange ซึ่งเป็นการตักเตือนรัฐบาลต่างๆ มิให้มาดำเนินการอันร้ายกาจกับพวกเขา

หลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีข่าวคราวของการเข้าถึงความลับของประชาชน โดยเริ่มต้นจากโครงการปริซึม ที่อ้างโดย Edward Snowden ผู้ซึ่งกำลังลี้ภัยอยู่ในรัสเซีย ว่าเป็นโครงการของรัฐบาลสหรัฐ ที่อาศัยความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Google, Facebook, Microsoft, Apple, Yahoo ฯลฯ ในการเข้าถึงความลับของประชาชน โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 50% ของทั้งโลก สามารถถูกดักฟังได้โดยรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทข้ามชาติ ที่มีการให้บริการข้ามพรมแดน และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลของประเทศต่างๆ

Read More

ใครเป็นผู้กำกับดูแลคอนเทนท์ในยุคดิจิทัล

เมื่อกลางเดือน ก.ค. ได้มีโอกาสได้ขึ้นเวทีเสวนาเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ จัดโดยสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เนื้อหาส่วนหนึ่งของรายการ ได้พูดคุยถึงบทบาทของการกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพฯต่างๆ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพ ในการสนับสนุน ตักเตือน และลงโทษ ผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเอง ก่อนที่จะถึงการกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กสทช. นอกจากนี้ การกำกับดูแลกันเองยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การกำกับดูแลร่วมกัน ระหว่างผู้กระกอบวิชาชีพและ กสทช. เพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อ การกำกับดูแลกันเองโดยสภาวิชาชีพฯ และการกำกับดูแลโดย กสทช.ได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2251 และพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 ซึ่งการตีความและบังคับใช้ในปัจจุบันยังคงจำกัดขอบเขตของการแพร่ภาพและกระจายเสียงโดยมุ่งเน้นรูปแบบของช่องรายการที่มีการเผยแพร่ผ่านคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ดาวเทียม และสายเคเบิล แต่มิได้มีการตีความและบังคับใช้โดยครอบคลุมถึงการแพร่ภาพและกระจายเสียงในยุคอินเทอร์เน็ต ที่มีรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ออนดีมานด์ และยังสามารถเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ปัจจุบันสื่อในยุคอินเทอร์เน็ต มีบทบาทที่สำคัญและสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง แม้จะถูกบุกเบิกด้วย User Generated Content แต่ได้ถูกพัฒนามาเป็นช่องทางหลักของหลายช่องรายการ ทั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของคำถามที่เกิดขึ้น ระหว่างเวทีเสวนา เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อผ่านช่องทางของอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube ซึ่งปัจจุบันยังคงมิได้ถูกกำกับดูแลโดย กสทช หรือ สภาวิชาชีพฯ การกำกับดูแลของทั้ง กสทช และ สภาวิชาชีพฯ ยังคงถูกจำกัดอยู่เพียงการแพร่ภาพและกระจายเสียงในรูปแบบเดิม

Read More

ความลับของรัฐบาล vs ความลับของประชาชน

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอข่าวคราวของ "จอมแฉ" เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่กำลังหลบหนีอยู่ภายในสนามบินของรัสเซีย และกำลังพยายามที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศต่างๆ เรื่องราวของสโนว์เดน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับคนไทยหลายๆ คน และได้ถูกเปรียบเปรยกับตัวละครของ ทอม แฮงค์ ในภาพยนตร์เรื่อง เดอะเทอร์มินอล ที่ได้อาศัยอยู่ภายในสนามบินของ นิวยอร์ค เป็นเวลาหลายเดือน เป็นที่น่าเสียดาย ที่เรื่องราวของสโนว์เดน กลับได้รับความสนใจ แต่เพียงการที่เขากำลังหลบหนีอยู่ภายในสนามบิน แต่เรื่องราวที่แท้จริง ว่าเพราะเหตุใดเขาถึงต้องหลบหนี นอกเหนือจากสาเหตุที่ว่า เขาได้เปิดโปงความลับอะไรบางอย่างของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่ได้รับความสนใจเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่ไกลตัว สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

"จอมแฉ" เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ได้แฉความลับของรัฐบาลสหรัฐ ว่ามีโครงการปริซึม สำหรับดักฟังความลับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ดังได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ สโนว์เดน ได้พาดพิงถึงบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่อาจให้ความร่วมมือกับโครงการปริซึม ในการดักฟังความลับของประชาชน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค บริษัทเหล่านี้ได้ออกมาเปิดเผยถึงจำนวนครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้งาน ในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา โดย Facebook เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้งาน 19,000 ราย ในขณะที่ Microsoft เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลความลับของผู้ใช้งาน 32,000 ราย และ Apple เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลความลับของผู้ใช้งาน 10,000 ราย ล่าสุด Yahoo ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลความลับของผู้ใช้งาน 13,000 ครั้ง

Read More

โทรทัศน์ ศูนย์รวมความบันเทิงในยุคดิจิทัล

การหลอมรวมของเทคโนโลยี (Technology Convergence) กำลังเปลี่ยนบทบาทของโทรทัศน์ เข้าสู่การเป็นศูนย์รวมความบันเทิงภายในบ้าน โดยอาศัยนวัตกรรมของกล่องรับสัญญาณ (Set-Top Box) ที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักของการรับชมสัญญาณวีดีโอ ในระบบอนาล็อกหรือดิจิทัล ไม่ว่าจะผ่านคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ระบบดาวเทียม สายเคเบิล หรือกระทั่งอินเทอร์เน็ต ยังได้พัฒนาสู่การรับชมความบันเทิงในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟ ที่รวมถึงการรับชมวีดีโออย่างออนดีมานด์ เพลง วีดีโอเกมส์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยอาจรวมไปถึงการใช้งาน Set-Top Box เป็นศูนย์รวมการควบคุมระบบต่างๆ ภายในบ้าน เช่น กล้องวงจรปิด แอร์คอนดิชั่นเนอร์ ระบบไฟ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีวิวัฒนาการของสมาร์ททีวี (Smart TV) ที่เปรียบเสมือนเป็นโทรทัศน์ที่มาพร้อมกับ Set-Top Box ซ่อนอยู่ข้างใน ในปัจจุบัน Set-Top Box ที่มีอยู่แพร่หลายในประเทศไทย ย่อมหนีไม่พ้น Set-Top Box สำหรับรับสัญญาณวีดีโอผ่านคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ซึ่งต้องรวมถึงดิจิทัลทีวี ที่กำลังจะมีการประมูลในอีกไม่ช้านี้ และ Set-Top Box สำหรับรับสัญญาณวีดีโอผ่านระบบดาวเทียมและสายเคเบิล อย่างไรก็ดี Set-Top Box เหล่านี้ ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย เป็น Set-Top Box สำหรับรับชมวีดีโอแต่อย่างเดียว โดยขาดความเป็นอินเทอร์แอคทีฟ ที่จะได้มาจาก Set-Top Box ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยม ทั้ง Set-Top Box ที่เป็นกล่องจริงๆ และ Smart TV ที่เปรียบเสมือนมีกล่องอยู่ข้างใน

Set-Top Box สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมในระดับโลก ได้แก่ Apple TV และ Roku โดยมีราคาตลาดที่ราว 100 ดอลลาร์ และสามารถใช้บริการเพื่อรับชมวีดีโออย่างออนดีมานด์ เพลง วีดีโอเกมส์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับการรับชมวีดีโอออนดีมานด์ iTunes, Netflix, Amazon, Hulu ฯลฯ เป็นผู้ให้บริการเนื้อหาสำหรับ Set-Top Box เหล่านี้ และตามที่เคยได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้า มีผู้ใช้งานวีดีโอออนดีมานด์ของ Netflix ในสหรัฐมากยิ่งกว่าจำนวนผู้ใช้งานของ Comcast ที่เป็นผู้ให้บริการเคเบิลอันดับหนึ่ง

Read More

การล่วงรู้ความลับส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ต

เมื่อต้นเดือนนี้ ได้มีเหตุการณ์อื้อฉาว (Scandal) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความลับส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อได้มีการเปิดโปงโครงการ PRISM ของรัฐบาลสหรัฐ โดยอ้างว่าเป็นโครงการเพื่อการดักฟัง ดักอ่าน สืบค้น และทำ Analytics กับข้อมูลที่อาจเป็นความลับส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และมีการพาดพิงถึงบริษัทชั้นนำในโลกอินเทอร์เน็ต เช่น Microsoft , Yahoo!, Google, Facebook, YouTube, Apple ฯลฯ ที่อาจให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐ ผู้ที่เปิดโปงโครงการ PRISM ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของหน่วยสืบราชการลับ (CIA) และในขณะนี้ได้ถูกแจ้งจับในข้อหาเปิดเผยความลับของราชการ ยังได้อ้างอิงว่า โครงการ PRISM จะทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถดักฟัง ดังอ่าน สืบค้น และทำ Analytics กับการใช้โทรศัพท์ ส่งอีเมล์ ส่ง SMS โพสข้อความต่างๆ สถานที่ของผู้ใช้งาน (Location) ฯลฯ ผ่านบริษัทชั้นนำที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น ความลับที่รัฐบาลสหรัฐสามารถล่วงรู้ได้ กลับมิใช่เพียงความลับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นชาวอเมริกันเท่านั้น แต่กลับครอบคลุมถึงความลับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 50% ของโลก ซึ่งอาจรวมถึงผู้ใช้งานในประเทศไทยด้วย เพราะเป็นการใช้งานผ่านบริษัทชั้นนำเหล่านี้ ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation) และมีการให้บริการที่คล้ายกับการผูกขาดในระดับโลก

เรื่องอื้อฉาวของโครงการ PRISM ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความหวาดกลัวของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งบริษัทชั้นนำที่ถูกพาดพิงต้องออกมาชี้แจงอย่างมีข้อกังขา แต่ยังทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง ถึงความเหมาะสมของรัฐบาลสหรัฐในการดักฟัง ดักอ่าน สืบค้น และทำ Analytics กับข้อมูลที่อาจเป็นความลับส่วนบุคคล และความเหมาะสมของบริษัทชั้นนำที่อาจให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

Read More

โทรทัศน์ vs Digital Marketing ในยุค Smart TV

Digital Marketing ตามนิยามสากล คือการตลาดผ่านสื่อดิจิทัล ที่ใช้ช่องทางของอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ Digital Marketing ได้ถูกวิวัฒนาการทั้งในด้านของรูปแบบและช่องทาง นับจากจุดแรกเริ่มในยุคของดอทคอมเมื่อปี 1997 ในด้านของรูปแบบนั้น จากเดิม Digital Marketing ได้รวมถึงการตลาดผ่านเว็บไซต์ ในรูปแบบของแบนเนอร์โฆษณา แต่ต่อมาในยุคหลังที่มีเสิร์ชเอนจินเช่น oogle ก็ได้รวมถึงการตลาดในรูปแบบของ SEO, AdWords ฯลฯ แต่ต่อมาอีกเช่นกัน ในยุคหลังที่มีโซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ได้รวมถึงรูปแบบของการตลาดที่อาศัยโซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์กเช่น Facebook, YouTube, Twitter ฯลฯ

ในด้านของช่องทางนั้น จากยุคแรกเริ่ม Digital Marketing ได้อาศัยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงสื่อ แต่ต่อมาก็ได้รวมถึงโน้ตบุ๊ค ที่สามารถเข้าถึงสื่อจากนอกสถานที่ได้ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคหลังที่มี iPhone และ Android นั้น Smartphone กำลังก้าวเข้ามาเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงสื่อดิจิทัล โดยอาจเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการทำ Digital Marketing ในอีกไม่ช้านี้ ความสำเร็จของ Smartphone เป็นผลมาจากการเข้าถึง 3G ที่มีพื้นที่ครอบคลุมสูงกว่าการให้บริการอินเทอร์เน็ตในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะหลังการประมูลคลื่น 2,100 MHz ของ กสทช จึงทำให้ผู้ใช้ Smartphone สามารถเข้าถึงสื่อดิจิทัลได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ Smartphone ยังเป็นอุปกรณ์ในการเข้าถึงสื่อดิจิทัลที่มีราคาถูก และเข้าถึงได้ง่ายกว่าการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Digital Divide) เช่นประเทศไทย

Read More

จุดเปลี่ยนของทีวี: ดิจิทัล vs อินเทอร์เน็ต

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม Eric Schmidt ผู้เป็น Executive Chairman ของ Google ได้ประกาศชัยชนะของการรับชมวีดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีเหนือทีวี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำประกาศดังกล่าว มีที่มาจากจำนวนผู้เข้าชม YouTube ที่มีมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ซึ่ง Google มีความเชื่อมั่นว่าจำนวนดังกล่าว มีโอกาสที่จะขยายตัวสู่ 6-7 พันล้านคน ซึ่งจะครอบคลุมถึงประชากรทั้งโลก ถึงแม้คำประกาศของ Eric Schmidt อาจจะยังมีข้อกังขา หากเปรียบเทียบกับตัวเลขที่เป็นมาตรวัดของทีวีในแง่มุมต่างๆ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการที่วีดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตได้มาเป็นแนวโน้มของอนาคตอันใกล้และไกล ในขณะที่ทีวีเป็นพฤติกรรมของปัจจุบันที่กำลังจะเป็นอดีตในไม่ช้านี้ ทีวีคือการเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบของวีดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเข้าถึงได้โดยประชากรเกือบทั้งประเทศ ปัจจุบันการเข้าถึงทีวีมีอยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ การรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ผ่านดาวเทียม และผ่านเคเบิล โดยทั่วไปการรับชมผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลเป็นการรับชมแบบสมัครสมาชิก ในขณะที่การรับชมผ่านเสาอากาศคือทีวีที่สามารถรับชมได้โดยประชาชนทั่วไป (Free TV) Free TV เป็นรูปแบบของสื่อที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย จากมูลค่ารวมของสื่อทั้งประเทศ ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี Free TV มีมูลค่ากว่า 60% จุดเปลี่ยนสู่ดิจิทัลทีวี คือการเปลี่ยนคลื่นความถี่ของ Free TV จากระบบแอนะล็อกในปัจจุบันมาเป็นดิจิทัล โดยจะเพิ่มจำนวนของช่อง เพิ่มเสถียรภาพของสัญญาณ และเพิ่มการบริการแบบความละเอียดสูง (HD)

Read More

Google Glass: จุดเริ่มต้นของยุคหลัง Smartphone?

พรุ่งนี้ จะเป็นวันแรกของ Google I/O 2013 หรือสัมมนาประจำปีของ Google ที่มีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่เกี่ยวข้องกับ Android, Chrome, Chrome OS, Google APIs ฯลฯ ระหว่าง Google I/O 2012 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Project Glass ซึ่งปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาเป็น Google Glass และเริ่มมีการจัดจำหน่ายรุ่น Explorer Edition ที่ราคา $1,500 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสำหรับโปรแกรมเมอร์ที่มีความสนใจ อย่างไรก็ดี Google Glass ที่จะจัดจำหน่ายสู่ตลาดใหญ่ อาจเริ่มต้นก่อนสิ้นปี 2013 นี้ และจะมีราคาต่ำกว่า Explorer Edition เป็นอย่างมาก Google Glass คือคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Computer) ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Ubiquitous Computing หรือการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ทุกที่ทุกเวลา โดยถูกออกแบบสำหรับสวมใส่แทนแว่นตาหรือร่วมกับแว่นตา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถมองผ่านจอภาพ ที่จะแสดงผลเป็นภาพซ้อนอยู่เหนือสิ่งที่ผู้ใช้จะมองเห็นจริง (Augmented Reality) ในรุ่นปัจจุบัน Google Glass จะมีจอภาพอยู่เหนือตาข้างขวา ผู้ใช้จึงสามารถใช้ตาขวาเหลือบมองจอภาพได้ตลอดเวลา

การทำงานของ Google Glass มีลักษณะคล้าย Smartphone เนื่องจาก Google Glass ถูกพัฒนามาจากระบบ Android เพียงแต่ผู้ใช้ต้องควบคุมด้วยระบบเสียง (Voice Command) ทดแทนการควบคุมในระบบสัมผัส (Touch Screen) และเนื่องจาก oogle Glass ใช้ระบบ Android จึงมี App ต่างๆ ของ Google และผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น Google Now, Google Maps, Google+, Gmail, Evernote ฯลฯ ที่พร้อมใช้งาน เพียงแต่ต้องดัดแปลงมาใช้จอภาพที่อยู่เหนือตาขวาและการควบคุมด้วยเสียงดังกล่าว

Read More

Netflix: อนาคตของ Premium Content บนโลกออนไลน์

ในวันนี้ ความเชื่อที่ว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องการบริโภคเฉพาะของฟรีเท่านั้น อาจเหลือความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว อย่างไรก็ดี ความเชื่อที่ว่านี้ ได้ถูกสะท้อนมาจากโมเดลทางธุรกิจ ที่มีอยู่แพร่หลายในปัจจุบันของโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการให้บริการเนื้อหา อย่างไม่เก็บค่าบริการ แต่แสวงหารายได้จากการโฆษณา จวบจนปัจจุบัน บริการในโลกออนไลน์ ที่มีการใช้งานสูงสุด เช่น Google, YouTube, Facebook ฯลฯ ล้วนมีโมเดลทางธุรกิจในรูปแบบนี้ทั้งสิ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากยุคแรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ยุคของ ดอทคอม ธุรกิจออนไลน์ส่วนใหญ่ จึงมีรูปแบบที่คล้ายสื่อ โดยมีความแตกต่างจากสื่อดั้งเดิม ด้วยความเป็นดิจิตอล อินเทอร์แอคทีฟ หรือโซเชียลมีเดีย แต่ยังมีรายได้หลักจากการโฆษณาที่แลกกับการให้บริการเนื้อหาที่ไม่เก็บค่าบริการ User-Generated Content เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สนับสนุนโมเดลทางธุรกิจดังกล่าว เนื้อหาส่วนใหญ่ ของบริการออนไลน์ เช่น Google, YouTube, Facebook ฯลฯ ล้วนเป็น User-Generated Content ผู้ให้บริการจึงไม่มีต้นทุนในการผลิต เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ กลับถูกสร้างและนำเสนอโดยผู้ใช้งาน ผู้ให้บริการ Google, YouTube, Facebook ฯลฯ มีหน้าที่เพียงการให้บริการเทคโนโลยีสำหรับเผยแพร่เนื้อหาเท่านั้น หากนึกย้อนกลับไปสู่ยุคแรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต เนื้อหาที่มีการแลกเปลี่ยนสูงสุดคือ เพลงและวีดีโอที่มีลิขสิทธิ์ในรูปแบบของ MP3 ฯลฯ ซึ่งเป็น Premium Content แต่เป็นการแลกเปลี่ยนอย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบัน พัฒนาการของเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ Smart Phone และโซเชียลมีเดีย เอื้อต่อการสร้างและเผยแพร่ User-Generated Content จึงทำให้ User-Generated Content เป็นเนื้อหาที่มีความนิยม และมาทดแทน Premium Content จากยุคก่อนหน้า

Read More

จากพื้นดินสู่ท้องฟ้า: 3G และ WiFi บนเครื่องบิน

การให้บริการ 3G ที่คลื่นความถี่ 2100 MHz เริ่มใกล้ความเป็นจริงทุกช่วงขณะ ในขณะที่การทดลองให้บริการ 4G LTE ก็เป็นกระแสข่าวที่ไม่แพ้กัน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลากำลังจะเป็นความควาดหวัง และความเป็นจริงสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เป็นอานิสงส์จากเทคโนโลยีไร้สาย ที่รวมถึง WiFi, 3G และกระทั่ง 4G LTE ที่เร็วๆนี้ จะได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นอานิสงส์จากอุปกรณ์ในการเข้าถึง ที่รวมถึง Smartphone และ Tablet ที่ราคาถูกลง และสามารถเป็นเจ้าของได้โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงของเทศกาลวันหยุดยาว ที่คนไทยจำนวนมากต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่นานมานี้ การบินไทย ได้ประกาศให้บริการ อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน โดยจะเริ่มต้นจาก Airbus A330, Airbus A380 ฯลฯ

การให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในสากลโลก กลับมีการให้บริการมาหลายปีแล้ว โดยมีการให้บริการในสองรูปแบบที่แตกต่างกัน

Read More

3G และเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ

สองปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าไปข้องเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งมีทั้งกลุ่มของผู้ที่พิการทางสายตา และผู้ที่พิการทางการได้ยิน ที่สำคัญ ยังได้สัมผัสกับ การใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง 3G Smartphone ฯลฯ ของกลุ่มคนเหล่านี้ จึงทำให้ได้เรียนรู้ถึง โอกาสที่เทคโนโลยีเหล่านี้ จะสามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับผู้ที่พิการ ในแง่มุมที่คนธรรมดาทั่วไปอาจคาดคิดไม่ถึง iPhone นับจากรุ่น 3GS ที่ได้เปิดตัวเมื่อ 4 ที่แล้ว ได้ติดตั้งนวัตกรรม VoiceOver ซึ่งมีหน้าที่อธิบายสิ่งที่ปรากฎอยู่บนจอภาพด้วยเสียงสังเคราะห์ เพื่อให้ผู้ที่พิการทางสายตาสามารถรับรู้สิ่งที่ปรากฎอยู่บนจอภาพ และมีปฏิสัมพันธ์กับ iPhone ด้วยระบบสัมผัสได้ การอธิบายของ VoiceOver ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับระบบสัมผัส ทำให้ผู้ที่พิการ สามารถเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพ รวมถึงตำแหน่ง คุณสมบัติ และหน้าที่ VoiceOver สามารถพูดเสียงสังเคราะห์ได้ถึง 36 ภาษา รวมถึงภาษาไทย และสามารถกำหนดความเร็วของเสียงได้

หากเคยสัมผัสกับผู้ที่พิการทางสายตา ในขณะที่กำลังใช้ iPhone จะพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่ จะกำหนดความเร็วของเสียงสังเคราะห์ ให้เร็วเกินกว่าผู้ที่มีร่างกายปกติจะสามารถเข้าใจได้ และในบางครั้ง พวกเขาอาจฟัง SMS, อีเมล์ หรือเว็บเพจ ได้อย่างรวดเร็วกว่าการอ่านด้วยสายตาของผู้ที่มีร่างกายปกติเสียอีก

Read More

Android vs Linux ความเหมือนที่แตกต่าง

Open Source คือรูปแบบการพัฒนาและแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ โดยเปิดเผย Source Code หรือรหัสต้นฉบับ ที่นักพัฒนาทั่วไป สามารถนำไปแก้ไข และแจกจ่ายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง ผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ที่เติบโตมากับอินเทอร์เน็ต และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ล้วนเป็น Open Source ทั้งสิ้น หนึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ Open Source คือ Linux ซึ่งเป็น Operating System ที่มีการเปิดเผย Source Code แรกเริ่ม Linux ถือกำเนิดโดยความพยายามของ Linus Torvalds นักพัฒนาชาวฟินแลนด์ ที่ได้เชื้อเชิญให้นักพัฒนาอื่นๆ ร่วมพัฒนาด้วยกัย โดยมีการแชร์ Source Code อยู่บนอินเทอร์เน็ต ปัจจุบัน นักพัฒนากว่าหมื่นคน ร่วมพัฒนา Linux Kernel ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ Operating System และยังไม่รวมถึงนักพัฒนา ที่ร่วมพัฒนาส่วนอื่นๆ ของ Linux ที่อาจมีหลายแสนคน นอกจากนี้ นักพัฒนายังสามารถนำ Source Code ไปปรับปรุง เพื่อแจกจ่าย หรือกระทั่งจัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่นตัวอย่างของ Ubuntu, Mint, Red Hat ฯลฯ ปัจจุบัน Linux มี Market Share กว่า 30% ของ Operating System ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต

สำหรับ Android คือ Operating System ที่ถูกปรับปรุงมาจาก Source Code ของ Linux โดย Google เป็นผู้แจกจ่ายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ปัจจุบัน Android เป็น Operating System ของ Smartphone ที่มีการใช้งานสูงสุด มี Market Share กว่า 70% โดยมีผู้ผลิต Smartphone และ Tablet เช่น Amazon, Samsung, HTC ฯลฯ นำไปใช้งานต่อ ในผลิตภัณฑ์ Smartphone และ Tablet ของตัวเอง

Read More

Kickstarter จากแนวคิดสู่นวัตกรรมด้วย Crowd Funding

แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม มักต้องการเงินทุน เพื่อที่จะขับเคลื่อนสู่นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ในบางครั้ง การระดมทุน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่ทุกคน ที่มีทุนทรัพย์เป็นของตัวเอง หรือมีเส้นสาย ที่จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายของแหล่งทุนได้ ผู้ที่ริเริ่มธุรกิจหลายคน แม้กระทั่ง Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ก็เคยผ่านขั้นตอนนี้มาก่อน ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง Apple ได้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก การระดมทุน ในรูปแบบที่มาตรฐานที่สุด คงหนีไม่พ้นการกู้ยืมจากธนาคาร แต่สำหรับธุรกิจนวัตกรรม กลับมีหลากหลายวิธีการ ที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบของธุรกิจ Crowd Funding เป็นอีกวิธีหนึ่ง ของการระดมทุน ที่อาศัยช่องทางของอินเทอร์เน็ต ในการสร้างเครือข่ายของผู้สนับสนุน ผู้ที่สนใจโดยทั่วไป สามารถร่วมสนับสนุนแนวคิดได้โดยตรง ทั้งนี้ Kickstarter เป็นบริการออนไลน์ ที่อาศัยรูปแบบของ Crowd Funding เพื่อระดมทุนให้กับแนวคิดต่างๆ เพื่อให้เจ้าของแนวคิด นำสามารถไปสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ

การใช้งาน Kickstarter เริ่มจากเจ้าของแนวคิดที่ทำการประชาสัมพันธ์ผ่าน Kickstarter โดยระบุวัตถุประสงค์ จำนวนเงินที่ต้องการ และสิ่งที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ หากสนับสนุนในจำนวนเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็นบริการหรือสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด แต่ไม่ใช้สัดส่วนความเป็นเจ้าของ ในรูปแบบของการลงทุน สำหรับแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนในจำนวนเงินที่ต้องการ เจ้าของแนวคิดจะใช้เงินทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสู่การสร้างนวัตกรรม แต่สำหรับแนวคิดที่ไม่ได้รับจำนวนที่ต้องการ ก็จะไม่มีการเรียกเก็บเงินสนับสนุนทั้งสิ้น

Read More

ลูกค้าเป็นของใคร ในยุค 3G

ในเกือบทุกธุรกิจ ผู้ที่อยู่ใกล้ลูกค้า ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ ในธุรกิจเทคโนโลยี เช่น 3G การเข้าถึงลูกค้า มีความสลับซับซ้อน มีผู้ผลิต มีผู้ให้บริการ ที่ต่างบทบาท ในแต่ละชั้น (Layer) ของการให้บริการ บทบาทหลักของ 3G คือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Data) ความเร็วสูง อย่างไร้สาย สำหรับลูกค้าคนหนึ่ง การใช้งาน 3G ย่อมต้องผ่านบริการของ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์ในการเข้าถึง (Device) และผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสาร (Application & Content)

ที่ผ่านมา มีการแข่งขัน เพื่อแย่งชิ่งความใกล้ชิดกลับลูกค้า หรือกระทั่ง การเป็นเจ้าของลูกค้า ซึ่งผู้ให้บริการและผู้ผลิต ต่างมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกัน

ความได้เปรียบของผู้ให้บริการโทรคมนาคม คือการที่มีข้อมูลของลูกค้าอย่างเป็นทางการ ระบบจ่ายเงิน ช่องทางขายปลีก และกระทั่งหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งปัจจุบัน ยังคงเป็นเลขประจำตัว ที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการติดต่อสื่อสาร ทั้งหมดนี้ เป็นความได้เปรียบของโครงสร้างพื้นฐานทางวัตถุ (Physical Infrastructure) ที่รวมไปถึงการให้บริการโครงข่าย (Network) อีกด้วย

Read More

การเข้าถึงลูกค้าในยุค 3G

ครั้งแรกในประเทศไทย ที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จะเป็นเรื่องปกติสำหรับประชาชนชาวไทย ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมีการทยอยการเปิดตัว ของการให้บริการ 3G โดยใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz ของสามผู้ให้บริการหลัก ที่พึ่งชนะประมูล เมื่อปลายที่แล้ว ความโดดเด่นของ 3G คือบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างไร้สาย ผ่านโครงขายของโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่น Smartphone, Tablet ฯลฯ ทั้ง 3G และ Smartphone ถือเป็น นวัตกรรมเชิงแตกหัก (Disruptive Innovation) ที่ทำให้เกิดการสร้างตลาดและระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยจะนำไปสู่การแตกหักของตลาดและระบบเศรษฐกิจเดิม

ตัวอย่างที่สำคัญ คือตลาดและระบบเศรษฐกิจของธุรกิจ Social Media เช่น Facebook หลายเดือนก่อนหน้า การเข้าตลาด (IPO) ของหุ้น Facebook ถือเป็นหนึ่งใน IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดสำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ต โดยมีมูลตลาด (Market Capitalization) สูงสุดกว่าหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี มูลค่าตลาดของ Facebook ได้ลดลงกว่า 30% หลังเข้าตลาด หนึ่งในสาเหตุคือการวิเคราะห์ที่ว่า Facebook เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากยุคของคอมพิวเตอร์ส่วนตัว (Personal Computer) ที่รวมถึงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน๊ตบุค แต่ยุคของ Smartphone กำลังจะเปลี่ยนตลาดและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรูปแบบทางธุรกิจของ Facebook อาจขาดการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุคของ Smartphone ที่กำลังจะมาถึง

Read More

รถยนต์ติด 3G

สำหรับปีนี้ Consumer Electronics Show 2013 (CES-2013) ที่พึ่งจะผ่านพ้นไป ได้จัดขึ้นที่ Las Vegas, USA และมีการนำเสนอเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับยุคต่อไป ที่จะสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ (Smart Device) กล่าวคือ รถยนต์ หลอดไฟ เตาอบ ตู้ซักผ้า ตู้เย็น ฯลฯ สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้น CES เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่มีความสำคัญสูงสุด มีการจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ทุกๆ ปี จะต้องมีการเปิดตัวสินค้าที่เป็นจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยี สำหรับปีนี้ หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการพัฒนาของอุปกรณ์จำพวก Smart Device ที่เพิ่มความหลากหลายจากเดิมที่มีเพียง Smartphone, Tablet, Smart TV, Smart Camera (Samsung Galaxy Camera, Nikon's Coolpix S800c) ฯลฯ Smart Device คืออุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ และถือมากำเนิดมาจากทฤษฎีของคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ทุกหนแห่ง (Ubiquitous Computing) ทั้งนี้ Smart Device เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย หลังจากยุคของ iPhone, iPad และ Android ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำพวก Smartphone, Tablet และได้วิวัฒนาการเข้าสู่ Smart TV, Smart Camera ในเวลาต่อมา Smart Device มีการเติบโตควบคู่กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยมีเทคโนโลยีไร้สายเช่น 3G และ WiFi เป็นปัจจัยสำคัญ ปัจจุบัน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ มีจำนวนของ Smart Devices มากกว่าจำนวนประชากร โดยคิดเป็น 1.35 เท่า ซึ่งแปลว่า สำหรับชาวอเมริกันหนึ่งคน จะมี Smart Device 1.35 ชิ้น

Read More

Digital TV: Blue Ocean หรือ Red Ocean?

จากบทความที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึง 3G กับ Blue Ocean Strategy โดยได้วิเคราะห์ว่า 3G จะทำให้เกิดตลาดออนไลน์ใหม่ คือกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกเมือง มีฐานะและการศึกษาด้อยกว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปัจจุบัน โดยจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่าน 3G และ Smartphone ที่มีราคาค่ำ ซึ่งกลุ่มนี้ อาจมีมากถึง 70% ของประชากร สำหรับปี 2556 เหตุการณ์สำคัญระดับประเทศ ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่แพ้การออกใบอนุญาต 3G โดย กสทช ในปี 2555 ที่ผ่านมา คือ การออกใบอนุญาต Digital TV โดย กสทช เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมองได้ว่า เป็นการปลดแอกระบบสื่อสารมวลชนครั้งสำคัญ ในรอบหลายสิบปี ธุรกิจโทรทัศน์สาธารณะ ที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี และถูกผูกขาดโดย 6 สถานีหลัก คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS กำลังจะเข้าสู่การแบ่งเค้กครั้งใหม่ เพราะในปี 2556 การออกใบอนุญาต Digital TV จะทำให้เกิด 48 สถานีใหม่ ในจำนวนนี้ 4 ช่องจะเป็นระบบ High Defintion อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังคงมีสถานีโทรทัศน์ระดับภูมิภาค ซึ่งจะเกิดขึ้นใหม่ ในระบบ Digital TV ที่ไม่ได้รวมอยู่ในจำนวนนี้ และในปีต่อๆไป กสทช ยังสามารถเพิ่มจำนวนช่องของ Digital TV ได้อีก จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลก หากประเทศไทยจะมีโทรทัศน์สาธารณะกว่า 100 สถานี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Read More

3G กับ Blue Ocean Strategy

สุขสันต์วันคริสต์มาสครับ และอีกไม่ถึงสัปดาห์ก็จะเป็นการส่งท้ายปีเก่า 2012 และต้อนรับปีใหม่ 2013 จึงขออนุญาตสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าด้วยครับ ปี 2012 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ได้มีเหตุการณ์สำคัญสองประการ ในโลกของเทคโนโลยี ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับของ Disruption ซึ่งจะมีอิทธิพลสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และอาจเริ่มเห็นผลได้ในปี 2013 ที่กำลังจะมาถึง

ประการแรก การจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz สำหรับให้บริการ 3G จะเป็นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ที่ประชากรส่วนน้อยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ประชากรส่วนมากยังไม่สามารถเข้าถึงได้ 3G เป็นเทคโนโลยีไร้สาย สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่ง กสทช กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องครอบคลุม 80% ของประชากร ภายใน 4 ปี ดังน้ัน จะมี 3 โครงข่ายของ 3G ที่ครอบคลุมถึง 80% ของประชากร ซึ่งจะเป็นการครอบคลุมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน

Read More

เครื่องพิมพ์สามมิติ สู่การปฏิวัติและทำลายล้างอุตสาหกรรม

วันนี้ คนไทยกำลังลุ้นอยู่กับ 3G และโอกาสที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสิ้นสุดของปัญหา Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเขาถึงโลกดิจิตอลของคนไทย แต่ในวันนี้ คนต่างชาติในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังลุ้นอยู่กับ เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างมองว่า อาจเป็น Disruptive Technology ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างส่งผลสู่ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบของ Disruptive Changes ได้อย่างยิ่งใหญ่กว่าการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมจากอินเทอร์เน็ตในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

เครื่องพิมพ์สามมิติคืออุปกรณ์ ที่สามารถสร้างสิ่งของที่สัมผัสได้ จากไฟล์ต้นแบบที่โหลดมาจากโลกดิจิตอล ในมุมมองหนึ่ง เครื่องพิมพ์สามมิติอาจเปรียบเสมือนเป็นประตูทางออกจากโลกดิจิตอลเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพราะเกือบทุกสิ่งที่โหลดได้จากโลกดิจิตอล สามารถใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างออกมาเป็นสิ่งของที่สัมผัสและใช้งานได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

Read More